"เบสทรินกรุ๊ป"ยื่นฟ้องอาญาอดีตบอร์ดขสมก.-ผู้ชนะจัดซื้อรถ NGV ฮั้วประมูล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 14, 2015 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท เบสทริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในยื่นประมูลโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ยื่นฟ้องอดีตบอร์ด ขสมก.และผู้ชนะการประกวดราคา ต่อศาลอาญา ฐานฮั้วประมูลและปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีประกวดราคารถเมล์ NGV ล็อตแรกจำนวน 489 คัน โดยศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท.11/2558 แล้วและจะมีคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ในวันที่ 21 ส.ค.เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด โดยนายทินกร พันพานิชย์กุล ผู้รับมอบอำนาจ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์, น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ, พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์, นายวันชาติ สันติกุญชร, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, นายพีระพงศ์ รอดประเสริฐ, นางปราณี ศุกระศร, นายยุกต์ จารุภูมิ และนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย เป็นจำเลยที่ 1-9 ต่อศาลอาญา ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542(พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) และมาตรา 9, 10, 11, 12 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค.58 ขสมก.โดยจำเลยที่ 1-7 ได้จัดประกวดราคารถเมล์ระบบ NGV จำนวน 489 คันทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งโจทก์และกิจการร่วมค้ากับบริษัทแห่งหนึ่งโดยจำเลยที่ 9 ได้เข้าร่วมประกวดราคาด้วย ต่อมาโจทก์กับบริษัทดังกล่าวได้ผ่านการเข้าประกวดราคารอบแรก โดยการประกวดราคาครั้งนี้ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 8 เป็นประธานประกวดราคาและประธานกรรมการตกลงและต่อรองราคา ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคา และมีจำเลยที่ 1-7 เป็นผู้ควบคุมอีกที

จำเลยที่ 1-8 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวคือ จำเลยมีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าประกวดราคาให้เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของขอบเขตของงาน(Term of reference) แต่จำเลยไม่ดำเนินการ กล่าวคือ บริษัทผู้แข่งขันเข้าประกวดราคาที่เข้ารอบร่วมกับโจทก์ไม่มีการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของรถเมล์ที่ส่งเข้าประมูลตามระเบียบขั้นตอนที่ระบุไว้ใน Term of reference โดยเฉพาะไม่มีการกล่าวถึงการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบ NGV กับหน่วยงานข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ แต่จำเลยก็ไม่ได้ทำการตัดสิทธิบริษัทดังกล่าว

ต่อมาภายหลังที่มีการประกวดราคาเรียบร้อยไปแล้ว จำเลยที่ 1-8 มีหน้าที่ตรวจสอบการตกลงและต่อรองราคาอีกครั้งหนึ่ง โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และประธานกรรมการประกวดราคา เป็นผู้ดำเนินการตกลงต่อรองราคา แต่จำเลยที่ 8 ร่วมกับจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวมีการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้เข้าทำการเสนอราคา เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ด้วยการแก้รายละเอียดคุณสมบัติของบริษัทผู้แข่งขันดังกล่าวให้ถูกต้องตามระเบียบ ทำให้บริษัทดังกล่าวชนะการประกวด ทั้งที่ความจริงบริษัทดังกล่าวมีการแก้ไขเงื่อนไขหลังจากได้มีการประกวดราคาและต่อรองราคาไปแล้ว ซึ่งขัดต่อ Term of reference ขณะที่จำเลยที่ 1-7 เป็นผู้ดูแลให้เป็นไปตามระเบียบแต่กลับปล่อยปะละเลย จึงเข้าลักษณะเป็นตัวการร่วมการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 8 การกระทำดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลเรียกจำเลยมาเพื่อไต่สวนมูลฟ้องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ