วิจัยกสิกรฯ คาดศก.ไทยปี 58 โต 2.8% การใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยวช่วยหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 17, 2015 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสที่จะประคองโมเมนตัมการฟื้นตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ไว้ได้ในช่วงที่เหลือของปี โดยมีแรงหนุนจากการขยายตัวของกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายเม็ดเงินของภาครัฐ ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และการหยุดชะงักของการผลิตรถยนต์บางรุ่น ก็อาจทยอยลดน้อยลงตามลำดับ

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ และปัจจัยลบจากต่างประเทศ อาจกดดันให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีความเสี่ยงที่จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.7 โดยเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญในเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน ที่ยังคงอ่อนแอ และ/หรือมีกรอบการขยายตัวที่ค่อนข้างจำกัด อาจทำให้เส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นไปอย่างล่าช้า

"สำหรับภาพรวมทั้งปี 2558 นั้น แม้การส่งออกในปี 2558 อาจหดตัวลงมากกว่าที่คาด แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงติดตามความคืบหน้าของการลงทุนภาครัฐ (ทั้งการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินจากงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ได้มีการเร่งทำสัญญา และก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว) และองค์ประกอบอื่นๆ ของจีดีพีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการใช้จ่ายเม็ดเงินของภาครัฐ และการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว อาจสามารถช่วยประคองภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ให้ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.8 ตามที่ประเมินไว้" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดไว้ โดยชะลอลงจากร้อยละ 3.0 ในไตรมาส 1/2558 ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐ และการส่งออกภาคบริการที่ขยายตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ช่วยชดเชยแรงฉุดจากการหดตัวของการส่งออกสินค้า และภาวะซบเซาของการใช้จ่ายภาคเอกชนไว้ได้บางส่วน

ขณะที่ภาครัฐยังคงเร่งใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาส 2/2558 ตามการเพิ่มขึ้นของค่าตอบแทนแรงงาน ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน รายจ่ายซื้อสินค้า/บริการ และการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมฯ อย่างไรก็ดี การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางอ่อนแอ

การส่งออกสินค้าหดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ 4.0 ในไตรมาส 2/2558 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรก โดยสัญญาณลบของการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม (ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อจากคู่ค้าต่างประเทศที่อ่อนแอ และปัจจัยชั่วคราวที่มีการเปลี่ยนรุ่นรถกระบะของบริษัทรถยนต์รายใหญ่) เป็นภาพที่สวนทางกับระดับเงินบาทที่เริ่มทยอยปรับตัวเข้าสู่กรอบ 32.35-33.90 บาท/ดอลลาร์ฯ ซึ่งอ่อนค่ามากขึ้นกว่ากรอบ 32.30-33.00 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วงไตรมาสแรก

อย่างไรก็ดี รายรับภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 25.1 ในไตรมาส 2/2558 ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปัจจัยฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองในปีก่อนหน้า ช่วยบรรเทาแรงฉุดจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าดังกล่าวข้างต้น ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาส 2/2558 สามารถประคองการเติบโตไว้ที่ร้อยละ 1.0 เท่ากับในไตรมาสแรกที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ