เครือข่ายปชช.ฯยื่นหนังสือรมว.พลังงานให้ยกเลิก PDP2015 พร้อมจัดทำแผนใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 7, 2015 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากแผนพีดีพี 2015 จำนวน 13 เครือข่ายทั่วประเทศ ได้รวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงาน โดยเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เพื่อขอให้ยกเลิกแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2558-2579 (PDP2015) ที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากถึง 57,459 เมกะวัตต์ ในระยะ 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากมองว่าจะนำไปสู่การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น เป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ กลายเป็นภาระทางการเงินของผู้บริโภคในระยะยาวเป็นเงินกว่า 6.7 แสนล้านบาท พร้อมขอให้พิจารณาจัดทำแผนใหม่ด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากประชาชน และต้องไม่เป็นภาระการลงทุนเกินความจำเป็น ตลอดจนไม่ใช้พลังงานถ่านหินและนิวเคลียร์

สำหรับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตามแผนสูงเกินมาตรฐาน 15% ไปอย่างมากในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยตามแผน PDP2015 มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวมากกว่าแผนฉบับเดิมหลายพันเมกะวัตต์ ทั้งที่ควรมีการก่อสร้างน้อยลงจากแผนเดิม เนื่องจากการขยายตัวเศรษฐกิจลดลง และมีการเพิ่มเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น

ขณะที่มองว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพา รวมถึงโรงไฟฟ้าที่เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรายังไม่มีความจำเป็นต้องสร้างอย่างน้อยในระยะ 12 ปีจากนี้ แม้จะยกเลิกโครงการทั้งสามแห่ง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองก็ยังคงสูงเกิน 15% ส่วนโรงไฟฟ้าที่จะครบกำหนดสัญญาและถูกปลดออกจากระบบจำนวน 24,736 เมกะวัตต์ในช่วง 20 ปีข้างหน้านั้นนั้น สามารถทำการปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงเดิมได้อย่างน้อย 21,419 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าการพัฒนาโครงการใหม่

นอกจากนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งมาขายในไทย ถือเป็นการส่งออกปัญหาสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งกับชุมชนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น เครือข่ายประชาชนฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับปัญหาโดยตรงจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งในและประเทศเพื่อนบ้าน ขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน ยกเลิกแผน PDP2015 เพื่อให้จัดทำแผนใหม่ ด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ในการวางแผน และตรวจสอบการวางแผนได้อย่างโปร่งใส และการจัดทแผน PDP จากนี้ไปต้องพิจารณาหลักเกณฑ์สำคัญ เช่น ผู้บริโภคต้องไม่รับภาระการลงทุนเกินความจำเป็น ,พิจารณาปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่แล้ว และมีกำหนดจะปลดระวางก่อนที่จะวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

เลือกแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ไม่ใช้พลังงานถ่านหินและนิวเคลียร์ ,สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ต้องไม่ถือเป็นพลังงานหมุนเวียน ขณะที่การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ต้องไม่ตั้งเพดานการผลิตและต้องส่งเสริมให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา และเขาหินนซ้อน แต่หากยังมีการก่อสร้างต่อต้องหาทางชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตโดยไม่ผลักมาเป็นภาระของผู้บริโภค และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้านและเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในภูมิภาคโดยไม่สร้างความขัดแย้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ