ม.หอการค้าฯคาดจีดีพี SME เริ่มฟื้น Q4 ชมรัฐออกมาตรการช่วยเหลือตรงประเด็น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2015 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาส 3/58 พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ถึง 61.3% ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะที่ 38.7% ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ โดยผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ถึง 58.1% ระบุว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง ซึ่งเฉลี่ยแล้วขาดสภาพคล่องมาเป็นระยะเวลา 8 เดือน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ SMEs ขาดสภาพคล่องมาจาก 1.ยอดขายและรายได้หดตัวอย่างต่อเนื่อง 2.สินค้าและบริการไม่สามารถแขงขันกับคู่แข่งได้ 3.ลูกค้าเริ่มจ่ายเงินล่าช้า หรือมีการเบี้ยวหนี้ 4.ถูกเจ้าหนี้บีบให้ชำระค่าสินค้าเป็นเงินสด ทั้งนี้ผลต่อเนื่องที่ตามมาจากการที่ SMEs ขาดสภาพคล่อง ทำให้ 1.ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ 69.1% เริ่มจ่ายเงินให้เจ้าหนี้การค้าล่าช้า โดยส่วนใหญ่จะล่าช้าเฉลี่ยประมาณ 2.6 เดือน 2.ผู้ประกอบการ SMEs 19.6% เริ่มชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้เงินกู้ล่าช้า 3.ผู้ประกอบการ SMEs 26.7% เริ่มมีการเลิกจ้างหรือปลดคนงานในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่อีก 17.9% มีแผนจะเลิกจ้างหรือปลดคนงานในช่วงครึ่งปีหลัง และ 4.ผู้ประกอบการ SMEs 22.6% เริ่มมีความคิดที่จะเลิกกิจการ

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และธุรกิจของตัวเองนั้น พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ 38.5% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปี 59 และคาดว่าธุรกิจของตัวเองจะเริ่มฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 59

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น เร่งฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ, สนับสนุนเงินทุนให้กับ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง, ปรับเกณฑ์หรือคุณสมบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น ลดดอกเบี้ย ปรับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ, ปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้มีความเหมาะสม, จัดหาตลาดให้การจำหน่ายสินค้าให้แก้ผู้ประกอบการรายเล็ก เป็นต้น

สำหรับปัจจัยบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของ SMEs ในปีนี้ ได้แก่ การที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือหรือสนับสนุน SMEs, สถานการณ์เมืองในประเทศมีเสถียรภาพ, การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ใกล้เคียง 1.50% มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายการคลังผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนที่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยลบต่อภาวะเศรษฐกิจของ SMEs ในปีนี้ เช่น กำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง, ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, พืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ, ภาวะหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง และการส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า GDP ของ SMEs ในช่วงไตรมาส 3/58 ขยายตัว 1.9% และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4/58 จะขยายตัวได้ 2.8% ขณะที่ดัชนีสุขภาพของธุรกิจ SMEs ในช่วงไตรมาส 3/58 อยู่ที่ 45.6 ลดลงจากไตรมาส 2/58 ซึ่งดัชนีอยู่ที่ 47.2 และคาดว่าไตรมาส 4/58 ดัชนีจะเริ่มดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 45.8 โดยมองว่ามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในด้านมาตรการภาษี และมาตรการช่วยเสริมสภาพคล่องที่รัฐบาลออกมาล่าสุดนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น

"ผู้ประกอบการมองว่าจุดต่ำสุดของ SMEs น่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งตอนนี้ได้ผ่านมาแล้ว และหวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4...ช่วงไตรมาส 3 ดัชนีสุขภาพของ SMEs ไม่ค่อยดี เพราะมีค่าต่ำกว่า 50 เพราะเศรษฐกิจที่ย่อตัวทำให้รายได้ลดลง มีปัญหายอดขายตก ลูกค้าเบี้ยวหนี้ ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยเหลือ SMEs ที่ออกมาล่าสุดนี้จึงถือว่าทำได้ตรงประเด็น และเหมาะสมกับเวลา" นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ