(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท.มองกนง.คงดอกเบี้ยเพราะไม่ต้องการเพิ่มปัจจัยความไม่แน่นอน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 17, 2015 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้มีปัจจัยความไม่แน่นอนในตลาดการเงินพอสมควร ดังนั้นการดำเนินนโยบายทางการเงินต้องคำนึงถึงเสถียรภาพเป็นสำคัญ ซึ่งเหตุผลที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% เชื่อว่าเป็นเพราะไม่ต้องการเพิ่มปัจจัยความไม่แน่นอนเข้าไปในตลาดการเงินมากขึ้นนอกจากนี้ ยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สามารถประคับประคองเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามมาตรการและนโยบายการเงินต่างๆ ของจีนที่จะออกมาอีกในอนาคต โดยล่าสุดจีนที่ระบุว่าจะปล่อยให้เงินหยวนเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้นนั้น ซึ่งแปลว่ามีโอกาสที่ค่าเงินหยวนอาจจะผกผันได้

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า หลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ว่าจะตัดสินใจเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในแต่ละประเทศด้วย อย่างไรก็ดี มองว่าค่าเงินบาทของไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค และหากเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาจะพบว่าค่าเงินบาทมีเสถียรภาพค่อนข้างดีและมีความผันผวนน้อยกว่า

“หาก FOMC มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็มองว่าจะมีผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด และไม่น่าเป็นห่วงว่าจะมีเงินทุนไหลออกมากเกินไป"ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

เนื่องจากปริมาณหนี้ต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป โดยอยู่ที่ระดับ 130,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ 170,000 ล้านดอลลาร์ และในจำนวน 130,000 ล้านดอลลาร์นั้นก็ไม่ใช่ในรูปของเงินตราต่างประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ในส่วนของตลาดพันธบัตรทั้งพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธปท.นั้น พบว่านักลงทุนต่างประเทศถืออยู่เพียง 8% เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อย ขณะที่ในตลาดหุ้นนั้นแม้จะมีสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นอยู่ถึง 30% แต่ส่วนใหญ่เป็นการถือหุ้นในระยะยาว และแม้จะมีนักลงทุนต่างชาติบางส่วนที่ถือหุ้นในระยะสั้นก็จะมีกลไกของตลาดหลักทรัพย์เข้ามาดูแลอยู่แล้ว

นอกจากนี้พื้นฐานดุลยภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคาดว่าในปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเกินดุลมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จึงไม่ห่วงว่าจะมีปัญหาเงินทุนไหลออกจากการที่สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยว่า ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในระดับ 3% มาตลอด และคงเป็นการยากที่จะมองว่าจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกนานเพียงใด เพราะต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของไทยเองด้วย ซึ่งในระยะหลังมานี้จะพบว่าปัจจัยที่ช่วยรองรับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มอ่อนแรงลง หากสามารถเสริมให้มีความเข้มแข็งได้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากขึ้น

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละแพ็คเกจนั้น จะมีผลในการบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมากกว่า และน่าจะเริ่มเห็นผลสำเร็จจากมาตรการต่างๆ ในช่วงต้นปีหน้า

“จะได้ผลมากน้อยแค่ไหนต้องคอยติดตาม เท่าที่ศึกษาคิดว่าผลคงไม่สำแดงมากนักในปีนี้ อาจเป็นต้นปีหน้า ส่วนจะมีผลต่อการเติบโตของ GDP มากน้อยแค่ไหนนั้นยังติดตามอยู่แต่คงไม่ใช่เรื่อง long term" นายประสาร กล่าว

ส่วนกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ส่งผลต่อการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปนานขึ้นถึงกลางปี 60 จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมากน้อยเพียงใดนั้น นายประสาร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีความเกี่ยวข้องกับหลายส่วน โดยเฉพาะความต่อเนื่องทางการเมือง บทบาทภาครัฐ ซึ่งต่างประเทศจะคุ้นเคยกับระบบการเมืองแบบที่มีผู้แทนราษฎร แต่สภาวะของไทยในปัจจุบันอาจจะไม่อยู่ในภาวะปกติ จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติยังจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยอยู่และยังไม่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนเพิ่ม

“แต่ทั้งหมดนี้ ก็อยู่ที่ว่าเราอยากได้สิ่งที่อยากได้หรือยัง อยากได้การเมืองแบบไหน ตกลงกติกากันได้หรือไม่" นายประสาร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ