โพลล์หอการค้า ระบุคนไทย 82% ยังไม่รับรู้นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 17, 2015 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งประชาชน และผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ 82% ยังไม่รับรู้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล มีเพียง 18% เท่านั้นที่รับรู้ ดังนั้น ผู้ตอบส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจัดโรดโชว์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง เสริมสร้างความเข้าใจ และรับรู้ความต้องการของแต่ละพื้นที่ให้มากขึ้น

นโยบายเศรษฐกิจเฟส 1 ประกอบด้วย การเร่งเบิกจ่ายเงินโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท, การจัดสรรเงินให้เปล่าตำบลละ 5 ล้านบาท ไม่รู้ 74.1% และการปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน ผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ได้รับรู้ เช่นเดียวกับนโยบายเศรษฐกิจ เฟส 2 ประกอบด้วย การยกเว้นภาษีให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เป็นเวลา 5 ปี, การปรับปรุงเงื่อนไขการค้ำประกันโดยบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยเหลือ, Start up เอสเอ็มอี เฉพาะที่มีศักยภาพสูง, การลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 10% ของกำไรสุทธิ 2 รอบบัญชี และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเอสเอ็มอี ไ

รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจด้านการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนของกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ โครงการเครือข่ายอาสาพาณิชย์ , ดูแลราคาสินค้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม, ฉลาดซื้อ-ประหยัดใช้, ส่งเสริมเอาท์เลตสินค้าเกษตร และสร้างแอพพลิเคชันลายแทงของถูก และธงฟ้า-หนูณิชย์พาชิม

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบส่วนใหญ่ 67.6% ระบุพึงพอใจกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมาก ส่วน 32.2% ระบุพึงพอใจปานกลาง มีเพียง 0.2% เท่านั้นที่พึงพอใจน้อย โดยนโยบายที่พึงพอใจมากที่สุด คือ กองทุนหมู่บ้าน ตามด้วยปรับปรุงเงื่อนไขการค้ำประกัน การเร่งเบิกจ่ายเงินโครงการไม่เกิน 1 ล้านบาท การลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 10% ของกำไรสุทธิ 2 รอบบัญชี สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เอสเอ็มอี เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ตอบส่วนใหญ่ เชื่อว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มาก และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มาก ทั้งนี้ ประชาชนเชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐจะทำให้การใช้จ่ายในครัวเรือน การออม ความเป็นอยู่ของครัวเรือน อำนาจซื้อดีขึ้น แต่หนี้สินเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ เชื่อว่า จะทำให้ยอดขาย กำไร ต้นทุน การจ้างงาน และยอดรับคำสั่งซื้อ/คำสั่งซื้อล่วงหน้า ดีขึ้น เพราะทั้งประชาชน และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ คาดจะได้รับเงินจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐ เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ลงทุนทำธุรกิจใหม่ ขยายกิจการ เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ ซื้อสินทรัพย์ จ่ายหนี้นอกระบบ เป็นต้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประชาชนและผู้ประกอบการตอบรับนโยบายที่ออกมาในเชิงบวก และคาดหวังว่าเมื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีขึ้น จะส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถูกหลายปัจจัยลบรุมเร้า ทำให้ถูกมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจยังทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม หากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลครั้งนี้ ลงไปสู่ระบบได้รวดเร็วภายใน 1 เดือนนี้ คาดว่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยในปีนี้ขยายตัว 3% ได้

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากประชาชนทั่วประเทศ 1,200 ตัวอย่าง และผู้ประกอบการ 600 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย.58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ