นายกฯห่วงหนี้เกษตรกร เร่งทุกฝ่ายช่วยแก้ไขหวังนำหนี้นอกระบบ เข้าสู่ระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 19, 2015 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ"คืนความสุขให้คนในชาติ"เมื่อคืนนี้ว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจข้อมูลว่าหนี้สินเกษตรกรว่ามีเกษตรกรได้นำที่ดินไปค้ำประกันการกู้เงินไว้กับภาคเอกชนหรือนายทุนเงินกู้เป็นจำนวนเท่าใดที่เรียกว่าทำเป็นสัญญาขายฝาก เรียกว่า "หนี้นอกระบบ" ซึ่งรัฐกำลังพยายามจะให้ความช่วยเหลือ โดยมาตรการหลัก ๆ ที่ได้วางไว้ ขั้นต้นในขณะนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. กลุ่มที่มีคำพิพากษาให้บังคับคดีแล้ว จำนวน 2,292 ราย มูลหนี้ กว่า 2,000 ล้านบาท จะต้องช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วน เพราะอาจถูกยึดที่ดินทำกิน หรือถูกนำไปขายทอดตลาดได้ โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ประสานงานกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ในการส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อโอนหนี้ดังกล่าวเข้าสู่สถาบันการเงิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการชำระหนี้ที่เหมาะสมและเป็นระบบต่อไป ไม่ใช่ไม่ใช้หนี้
"แต่หมายความว่าก็ต้องประนอมหนี้บ้าง อะไรบ้าง ถ้าเป็นนอกระบบก็ต้องเลิก คนที่เรียกหนี้มาก ๆ ถ้าคุ้มค่าแล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องเรียกแล้ว ก็ต้องใช้หนี้กัน เพียงแต่ว่าทำอย่างไรจะไม่มีหนี้อีกต่อไป ทุกครั้งพอแก้ปัญหาไปแล้ว ก็กลับมาอีกเหมือนเดิม เพราะว่าไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้เขา เขาก็มีรายได้เท่าเดิม เขาเคยเป็นหนี้ เพราะรายได้เขามีเท่านี้ รายได้วันนี้ แย่กว่าเดิม เพราะฉะนั้น เป็นหนี้ต้องมากกว่าเดิม คิดแบบนี้ แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องไปหารายได้เสริมให้เขา รายได้เสริมก็ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ไปแจก ต้องไปสร้างความเข้มแข็ง ไปทำอาชีพโน้นนี้ เสริมมา เกิดธุรกิจชุมชนในพื้นที่ Social business ขึ้นมา"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การทำธุรกิจสังคมดังกล่าวจะต้องเชื่อมต่อกับเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดโครงข่ายในเรื่องของการค้าขาย ในภูมิภาคเกิดขึ้น มีตลาดกลาง ตลาดชุมชนเอสเอ็มอีตลาดชายแดน ลดปัญหาในเรื่องของพ่อค้าคนกลาง ก็จะทำให้เกษตรกรมีเงินเหลือมากขึ้น ก็จะไม่เป็นหนี้ แล้วค่อยเดินหน้าต่อไป ซึ่งการดำเนินการในกลุ่มเกษตรกรนั้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
สำหรับกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ยังไม่อยู่ในชั้นบังคับคดี จำนวน ประมาณ 46,747 ราย มูลหนี้ กว่า 6,400 ล้านบาท ซึ่งมีความเร่งด่วนน้อยกว่าอันแรก แต่รัฐบาลก็ได้ให้ความช่วยเหลือคู่ขนานกันไป วันนี้กำลังให้คณะกรรมการคัดกรองข้อมูลและไกล่เกลี่ย ระดับอำเภอ ส่งเรื่องให้ธ.ก.ส. และคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนส่วนอำเภอ ที่เรียกว่าอชก. อำเภอ สำหรับเข้าไปดำเนินการไกล่เกลี่ยและปลดเปลื้องหนี้สิน โดยาสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ ให้สินเกษตรกรได้สำเร็จแล้ว เกือบ 3,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ กว่า 2,300 ล้านบาท
เพราะฉะนั้น อย่างไรก็ตามหากยังมีเกษตรกรรายใด ที่ตกหล่นไปจากการสำรวจมีความเดือดร้อนและประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาลเพิ่มเติมให้มาติดต่อได้ที่ ที่ว่าการอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ทุกอำเภอ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สัปดาห์นี้ได้เรียกคณะรัฐมนตรีเฉพาะกิจมาประชุม เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น ดูแลความยากจน แก้ปัญหาเร่งด่วนในเรื่องของเศรษฐกิจในช่วงนี้ รวมถึงเรื่องของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าจะร้ายแรงขึ้นมากกว่าปีนี้อีก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม นี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังไปแล้วบ้าง ก็คงต้องได้รับผลกระทบแน่นอน กรณีขาดการสนับสนุนน้ำจากระบบชลประทานได้
"วันนี้ก็ขอร้องกัน แต่ก็ขอร้องกันไม่ค่อยได้ ทุกคนก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็ต้องปลูกไป แล้วก็เสียหายมาก็เดือดร้อนไปหมด รัฐบาลก็พยายามที่จะแนะนำ พยายามที่จะบอกให้ไปเปลี่ยนโน่น เปลี่ยนนี่ บางคนสนใจก็ได้ไป บางคนไม่ค่อยสนใจ ก็เสียหายอีก เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นผมขอแจ้งเตือนพี่น้องเกษตรกร วันนี้ให้ฟังเจ้าหน้าที่รัฐเขาด้วย พยายามทุกอย่าง เงินทองก็ให้ไปแล้ว ไม่ได้ให้ไปใช้หนี้ ให้ใช้ไปเพื่อเตรียมการรองรับเรื่องฝนแล้ง รองรับเรื่องอาชีพ หรือไม่ก็ร่วมมือกันจ้างงาน สร้าง ซ่อมถนนหนทางบ้าง อะไรบ้าง ขุดลอกแหล่งน้ำทำฝายอะไรต่าง ๆ ให้ไปแบบนี้ เรียกว่าให้เบ็ดไปตกปลา แต่ส่วนที่ให้ขาดไป เช่น เงินช่วยเหลือ เงินอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อปะทังชีพนั้น เป็นเรื่องของให้ปลาไปนิดหน่อย ชั่วคราว ให้ปลาทั้งหมด ไม่มีปลาให้พอหรอก เพราะบ้านนี้ เมืองนี้ ประเทศนี้ มีคนตั้งหลากหลาย ที่มีหลายอาชีพ ทุกพวกก็จนทั้งสิ้น"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นแน่นอน จากการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการลงทุนของผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ