(เพิ่มเติม) "ฐากร"เชื่อไม่มีฮั้วประมูล 4G คาดได้รับเงินประมูลสูงถึง 7.1 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 30, 2015 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตในวันที่ 11 พ.ย. 58 และประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในวันที่ 12 พ.ย. 58 เชื่อมั่นว่าจะไม่มีการฮั้วกันในการประมูลครั้งนี้ เพราะผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายต้องการใบอนุญาต 2 ใบอนุญาตคือได้ทั้งคลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz เพราะมีความจำเป็นที่ต้องการใช้คลื่นความถี่มากขึ้นเพื่อรองรับการให้บริการกับลูกค้า

ขณะเดียวกันมั่นใจว่ากลุ่มบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ซึ่งเป็นอีก 1 กลุ่มบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลครั้งนี้นอกเหนือจากผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายนั้นจะเข้ามาแข่งขันอย่างแน่นอน โดยได้วางแบงก์การันตีสูงถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท

"ทุกคนอยากได้ 2 ใบอนุญาต เพราะแต่ละค่ายมีความจำเป็นใช้คลื่นความถี่มาก ฉะนั้นทุกคนสู้ราคากันหมด" นายฐากร กล่าวในงานสัมมนา"นับถอยหลังประมูล 4G....พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล"

นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้สำนักงาน กสทช.ได้มีแนวทางป้องกันการสมยอมราคา โดยหากตรวจสอบเห็นพฤติกรรมฮั้วราคา จะไม่มีการรับรองผลการประมูล ซึ่งการประมูลใช้ราคาตั้งต้น 80% ของราคาคลื่นความถี่ โดยคลื่น 1800 MHz ราคาเริ่มต้นกว่า 15,000 ล้านบาท และหากเคาะถึงครั้งที่ 3 ราคาจะไปถึง 95% หรือขึ้นไปที่ราคา 16,000 ล้านบาท และคาดว่าการประมูล 4 ใบอนุญาตจะได้รับเงินประมูลประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท บนสมมติฐานที่ราคาจะขึ้นไป 95% ของราคาคลื่น

นอกจากนี้กสทช. ยังเตรียมนำคลื่น 2600 MHz ไปเปิดประมูลคลื่นความถี่ในครั้งต่อไป โดยปัจจุบัน บมจ.อสมท (MCOT) เป็นผู้ถือครองคลื่น 2600 MHz จำนวน 120 MHz โดยระหว่างนี้กสทช.อยู่ระหว่างเจรจากับอสมท ที่ต้องการคืนคลื่นเช่นกัน แต่ติดที่ยังให้สัมปทานการให้บริการแก่เคเบิลทีวี และอสมท ต้องการเงินเยียวยาด้วย ซึ่งกรณียังก็ต้องรอกฎหมายใหม่ของกสทช.ต่อไป

นายฐากร กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ดังกล่าวจะทำให้เอกชนมีการลงทุนรวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในปีหน้าไม่น้อยกว่า 1.6 แสนล้านบาท โดยกสทช.จะให้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่1800 MHz ระยะเวลา 18 ปี ส่วนคลื่นความถี่ 900MHz จะให้ระยะเวลา 15 ปี ซึ่งผู้ประมูลได้สามารถนำไปปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเป็นเทคโนโลยี 4G หรือ 5G

นอกจากนี้ กสทช.ได้ให้ผู้เข้าร่วมประมูลกำหนดราคาให้บริการหลังการประมูลที่จะต้องต่ำกว่า 3G โดยได้ระบุเงื่อนไขในการประมูลชัดเจน ได้แก่ ค่าบริการด้านเสียง คิดอัตราที่ 0.69-0.72 บาท/นาที ค่าบริการดาต้า คิดอัตรา 0.26บาท/เมกะไบท์ เทียบกับค่าบริการระบบ 3G ที่มีค่าบริการด้านเสียง ที่อัตรา 0.84 บาท/นาที ค่าบริการดาต้าเก็บอยู่ที่ 0.28 บาท/เมกะไบท์ ทั้งนี้จะเปิดข้อมูลอัตราค่าบริการต่างๆให้ประชาชนรับทราบหลังเปิดประมูล ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาอัตราค่าบริการของระบบ 3G ปรับลดลงตามกลไกราคาตลาด

สำหรับตลาดมือถือก่อนเปิดให้บริการ 3G มีผู้ใช้ 2G อยู่กว่า 80 ล้านเลขหมาย และมีผู้ใช้ 3G จำนวน 3.7ล้านเลขหมาย แต่เมื่อมีการประมูล 3G ตลาดกลับด้าน โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 3G จำนวน 88 ล้านเลขหมาย และใช้ 2G เหลืออยู่ 4 ล้านเลขหมาย โดยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากที่ใช้เครื่องพีซี เปลี่ยนมาใช้ Mobile Internet สูงถึง 67%

ด้านนายบวร ปภัสรากร อดีตคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้าหากไม่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือไม่จัดการให้เรียบร้อยจะทำให้อนาคตประเทศจะลำบาก ในแง่ผู้ประกอบการที่ได้ถือครองคลื่นความถี่ก็ต้องบริหารจัดการคลื่นให้มีประสิทธิภาพดีที่สุดแม้ผู้ประกอบการได้ถนนเดิมแต่เทคโนโลยีดีขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

นายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) กล่าวว่า รัฐควรจำคลื่นความถี่ 700 MHz มาใช้เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์ให้กับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งทั่วโลกก็กำหนดคลื่นย่าน 700 MHz เป็นโครงข่ายโทรคมนาคม แต่ของไทยนำไปใช้กับทีวีดิจิตอล

นายฐากร กล่าวว่า ในอนาคตหากรัฐสามารถหาคลื่นความถี่อื่นให้ทีวีดิจิตอล ก็จะใช้ทดแทนคลื่นปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้คณะทำงานกำลังพิจารณาจะใช้คลื่น 700 MHz ดังนั้น อุปกรณ์ที่เคยลงทุนก็ต้องโละทิ้งซึ่งก็ต้องให้เงินเยียวยาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ