ก.เกษตรฯ คุมเข้มระบบติดตามเรือ VMS-แรงงานถูกกม.-ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าประมง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 17, 2015 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหา IUU-Fishing ของกรมประมงที่จังหวัดสมุทรสาคร ว่า รัฐบาลได้ประชุมหารือเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาประมงไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการเฝ้าระวังควบคุมระบบติดตามเรือประมงที่เข้าและออกทะเลว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้าเห็นว่า สินค้าประมงไทยที่จับมานั้นเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎระเบียบมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ กรมประมงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) จะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดทั้งการดำเนินการขึ้นทะเบียนเรือ การติดตามระบบ VMS รวมทั้งการขอใบอนุญาตต่างๆเพื่อทำการประมงให้ถูกต้องตามขั้นตอน

รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ได้รับรายงานการปฏิบัติงานจากศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือ เข้า-ออก Port In-Port Out Control Center(PIPO) จ.สมุทรสาคร ว่า ได้มีการตรวจสอบเรือประมงที่จะเข้าออกทะเลอย่างเข้มงวด โดยเรือที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าออกได้นั้นต้องผ่านการตรวจสอบในขั้นตอนต่างๆอย่างถูกต้องครบถ้วนทั้ง 13 รายการ ได้แก่ 1.ทะเบียนเรือ 2.ใบอนุญาตใช้เรือ 3.ใบอาชญาบัตร หรือใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมง 4.สมุดบันทึกการทำประมง 5.บัตรประชาชนไต๋เรือ 6.บัตรประชาชนนายท้ายเรือ 7.บัตรประชาชนช่างเครื่อง 8.ทะเบียนลูกจ้าง 9.บัตรสีชมพู 10.สัญญาจ้าง 11.ใบประกาศนายท้ายเรือ 12.ใบประกาศช่างเครื่อง และ 13.ระบบติดตามเรือ VMS

สำหรับปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำเข้าผ่านด่านตรวจสัตว์น้ำ จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.58 มีปริมาณสัตว์น้ำ 97,068,630 กิโลกรัม รวมมูลค่า 2,148,842,982 บาท

รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า มาตรการที่จะดำเนินการต่อไป คือ การบูรณาการร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้การเข้ามาของแรงงานประมงต่างด้าวเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย โดยหากตรวจสอบพบข้อมูลแรงงานประมงที่ไม่ถูกกฎหมายจะต้องเร่งประสานงานระหว่างกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตามจะไม่มีการผลักดันให้แรงงานประมงต่างด้าวที่ผิดกฎหมายกลับประเทศต้นทาง แต่จะดำเนินการให้แรงงานดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้จะคุมเข้มด้านสุขอนามัยของสินค้าประมง เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน โดยสุ่มตรวจสินค้าประมงเพื่อดูปริมาณสารตกค้างที่มากับสัตว์น้ำ รวมทั้งติดตามกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำแปรรูปของบริษัทเอกชน โดยตรวจกระบวนการผลิตของโรงงาน รวมทั้งกระบวนการควบคุมตรวจสอบการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าสัตว์น้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดประมงไทยให้เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ