สภาพัฒน์ เผย Q3/58 จ้างงานภาคเกษตรลดลง หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ผิดนัดชำระเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 23, 2015 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 58 ระบุว่า การมีงานทำลดลง 0.2% เนื่องจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่อง 3.8% สอดคล้องกับการผลิตในภาคเกษตรที่ลดลง

ทั้งนี้ ภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงเวลาทำการเพาะปลูกเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ ทำให้แรงงานเกษตรจำนวน 80,064 คน เป็นแรงงานรอฤดูกาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 สำหรับการจ้างงานนอกเกษตรเพิ่มขึ้น 1.7% ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับ 0.92% เพิ่มขึ้นจาก 0.84% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แรงงานมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย (ทุกสถานภาพ) 43.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3% ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบล โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4/58

ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงต่อไป ได้แก่ (1) รายได้ของเกษตรกรและแรงงาน ทั้งรายได้เกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจากปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ขณะเดียวกันชั่วโมงการทำงานของแรงงานทั่วไปลดลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ (2) แนวโน้มการจ้างงานภาคเกษตรลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง และปริมาณน้ำเพื่อทำการเกษตรลดลง (3) การเลิกจ้างและการใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการย้ายฐานการผลิต ซึ่งต้องมีแนวทางรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุมากซึ่งมักจะมีข้อจำกัดในการหางานทำ และการเร่งเตรียมแรงงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในอนาคต และ (4) การติดตามและเฝ้าระวังการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ในระหว่างการพิจารณาตัดสินขึ้นบัญชีดำการส่งออกอาหารทะเลของไทย หรืออนุมัติว่าไทยจะเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและปัญหาแรงงานทาส โดยจะมีการตัดสินในเดือนธันวาคม 2558

นายประเมธี กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จากรายงานสถานการณ์และการจัดการการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยได้รับการประเมินให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสำเร็จอย่างมากในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก ซึ่งถือว่าไทยได้รับการประเมินให้สูงขึ้นจากปี 2556 เป็นผลจากการที่ไทยมีความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้มีความพยายามอย่างเด่นชัดในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องและภาคส่วนองค์กรต่างๆ การปรับปรุงกฎหมาย การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้านเพื่อที่ดำเนินการแก้ไขปัญหา รวมถึงการออกมาตรการและนโยบายที่เป็นรูปธรรม

สำหรับหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงแต่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนมีรายได้ 27,545 บาท ต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.1% และรายจ่ายของครัวเรือนเท่ากับ 21,818 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 6.4% และสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้เท่ากับ 79.2% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 75.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นช้ากว่ารายจ่ายทำให้รายได้เหลือจ่ายของครัวเรือนเท่ากับ 5,727 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนลดลงเมื่อเทียบกับเงินเหลือจ่ายของครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกปี 2556 ซึ่งเท่ากับ 6,144 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 163,276 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.2% ชะลอตัวลงสอดคล้องกับข้อมูลหนี้สินครัวเรือนที่บุคคลธรรมดากู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งรายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่บ่งชี้ว่าหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่สองของปี 2558 หนี้สินครัวเรือนที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินมีมูลค่าเท่ากับ 10,714,318 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80.6% ของ GDP

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ยอดคงค้างการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาสที่สามเท่ากับ 3,624,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% โดยสินเชื่อเพื่อการจัดซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 10.8% การบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้น 8.5% ขณะที่การซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังลดลงต่อเนื่อง 2.7% การผิดนัดชำระหนี้ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อบัตรเครดิต ที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 14.3% และ 24.5% ตามลำดับ ดังนั้น ในภาพรวมสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนยังต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสัดส่วนของการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนต่อยอดคงค้างของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 5.2% และ 3.4% ตามลำดับ จากสัดส่วน 4.6% และ 2.6% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2557 ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยมีความคืบหน้าของมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้แก่ การช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้ไม่ให้สูญเสียที่ดินทำกิน ได้มีการดำเนินการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรประเภทนอกระบบไปแล้วจำนวน 7,634 ราย มูลหนี้ 2,964,530,957 บาท

นอกจากนี้ ในไตรมาส 3/58 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้น 26.8% จากไตรมาสเดียวกันของปี 57 ร้อย โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น 12.5% และผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 3.7 เท่า และยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ มือ เท้า ปาก และฉี่หนู เนื่องจากยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ รวมทั้งยังต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด ทั้งนี้ โรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยแต่จะพบมากในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ เนื่องจากมีระยะของการแฝงตัวนานก่อนเกิดโรค อีกทั้งยังไม่แสดงอาการที่ชัดเจน

ด้านค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น ในไตรมาสสามของปี 2558 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 28,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.03% จากไตรมาสเดียวกันของปี 57 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 14,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.84% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่คิดเป็น 3.56% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน และจากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 17.7 ล้านคนในปี 2557 เป็น 18.6 ล้านคนในปี 2558 โดยมีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นจาก 32.3% ในปี 2557 เป็น 34% ในปี 2558 และยังต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเยาวชนวัย 15-24 ปี เนื่องจากมีแนวโน้มการดื่มเพิ่มขึ้นจาก 21.6% ในปี 2544 เป็น 26.2% ในปี 2556 และ 25.2% ในปี 2557 แม้อัตราการดื่มจะลดลงจากปี 2556 แต่เมื่อพิจารณาความถี่ในการดื่มพบว่าเยาวชนที่ดื่ม 1-3 วันต่อเดือนมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจาก 473,199 คนในปี 2556 เป็น 735,230 คนในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 55.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ