สนพ.เร่งเดินหน้าซื้อ-แลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านตามแผน PDP 2015

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday November 28, 2015 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เผยเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) ที่กำหนดไว้ โดยเดินหน้าซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและกระจายความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้า

"ตัวเลขการใช้ไฟฟ้า 10 เดือนแรกของปี 2558 พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(Peak) ในปี 2559 อยู่ที่ระดับ 28,300-29,000 เมกะวัตต์ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย และหากการผลิตไฟฟ้าในประเทศยังไม่เป็นไปตามแผน PDP 2015 ที่วางไว้ก็จะทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบเช่นกัน" นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สนพ.กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีแผนรับซื้อไฟฟ้าและและเปลี่ยนไฟฟ้าจาก 5 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ 1.รับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ซึ่งได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) ส่งไฟฟ้ารวม 7,000 เมกะวัตต์ ในปี 2558 จ่ายไฟฟ้าแล้ว 2,105 เมกะวัตต์ กำลังก่อสร้าง 3,316 เมกะวัตต์ รวมถึงปี 2562 จำนวน 5,421 เมกะวัตต์ 2.ลงนาม MOU ฉบับใหม่กับเมียนมา ไม่ระบุปริมาณการรับซื้อ 3.ลงนาม MOU กับสาธารณรัฐประชาชนจีนประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 4.ทำ MOU รับซื้อไฟฟ้ากับกัมพูชาโดยไม่ระบุเวลา และ 5.แลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับมาเลเซียด้วยระบบเชื่อมโยง HVDC 300 เมกะวัตต์

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหงสาใน สปป.ลาว ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังการผลิต 1.878 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 3 หน่วยผลิต มีกำลังการผลิตเครื่องละ 626 เมกะวัตต์ โดยหน่วยผลิตที่ 1-2 ได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์(COD) ผ่านสายส่ง 500 กิโลวัตต์ เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และสายส่ง 115 กิโลวัตต์ของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ส่วนเครื่องที่ 3 จะเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2559

"การเดนเครื่องของโรงไฟฟ้าหงสาทำให้ประเทศไทยในเขตภาคเหนือมีพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงตลอดระยะเวลา 25 ปี ด้วยเชื้อเพลิงถ่านหินที่มีต้นทุนต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในขณะนี้" นายทวารัฐ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ