รัฐจ่อยึด PPA โซลาร์ฟาร์มค้างท่อหากจ่ายไฟไม่ทันปีนี้,เสนอ กพช.23 ธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 1, 2015 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ ให้พิจารณาเรียกคืนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ในส่วนของกลุ่มผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบ Adder เดิม (โซลาร์ฟาร์มค้างท่อ) ที่ยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามกำหนดภายในวันที่ 31 ธ.ค.58

รวมถึงในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นที่ไม่ใช่โซลาร์ฟาร์มนั้น ปัจจุบันหน่วยงานที่เกียวข้องกำลังตรวจสอบโครงการที่ได้รับ PPA แล้ว แต่เลยระยะเวลาการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) และถูกปรับมาเป็นเวลา 12 เดือน หากพบว่าไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ก็จะเรียกคืน PPA เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสายส่งที่เหลือสำหรับรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เตรียมจะเปิดรับซื้อเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีถึงปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ทันกำหนด หากรายใดมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ ก็อาจจะได้รับการขยายระยะเวลา COD

"จะเอาเข้ากพช.วันที่ 23 ธันวาคมนี้ ใครไม่ทันวันที่ 31 ธันวาคมนี้ก็จะเลิกหมด ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช.ก่อนหน้านี้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของระบบสายส่ง หลังจากนั้นจะพิจารณาเฉพาะกรณีๆไปว่าใครได้ต่อหรือไม่ได้ต่อ มีเงื่อนไขอะไรเกี่ยวข้องบ้าง ส่วนตัวเลขว่าจะมีจำนวนเท่าใดนั้นยังไม่ชัดเจนเบื้องต้นในส่วนของโซลาร์ฯค้างท่ออาจจะมีเกือบ 200 เมกะวัตต์ ที่เราต้องทำแบบนี้เพื่อให้รู้ปริมาณสายส่งที่เหลือ สำหรับบริหารจัดการสายส่งไฟฟ้าให้พร้อมรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาในอนาคต"นายธรรมยศ กล่าว

สำหรับข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 26 พ.ย.58 กลุ่มโซลาร์ฟาร์มค้างท่อที่มีอยู่จำนวน 178 โครงการ กำลังการผลิตรวม 1,013.38 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบันมีกลุ่มที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 16 เมกะวัตต์, กลุ่มที่ได้รับสัญญา PPA แล้ว รวม 168 โครงการ กำลังผลิต 967.05 เมกะวัตต์ , กลุ่มที่ตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ PPA จำนวน 1 โครงการ ขนาด 0.625 เมกะวัตต์ ขณะที่ยกเลิกแบบคำขอ 6 โครงการ รวมปริมาณการผลิต 23.70 เมกะวัตต์ และยกเลิกการตอบรับซื้อ 1 โครงการ กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การบริหารสายส่งเป็นหนึ่งใน Action Plan ของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) รวมถึงตามแผนดังกล่าวยังต้องมีการบริหารกำลังการผลิต และความต้องการใช้ไฟฟ้าให้ได้ตามแผน ตลอดจนมีการบริหารเชื้อเพลิงที่เหมาะสม ซึ่งตามแผนในปี 79 สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจะลดลงเหลือ 30-40% และมีการใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นเพิ่มขึ้น โดยตามแผนในปี 59 จะเริ่มเห็นการลดลงของสัดส่วนการใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงจะลดลงเหลือราว 60% จาก 64% ในปัจจุบัน และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขยับขึ้นเป็น 22-23% จาก 19% ในปัจจุบัน เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ในลาว ที่ขายไฟฟ้ากลับมาไทยนั้นจะเดินเครื่องผลิตครบทั้ง 3 ยูนิตในเดือนมี.ค.59

นอกจากนี้ในส่วนของเชื้อเพลิงในกลุ่มพลังงานทดแทน ที่ไม่รวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ทั้งเขื่อนขนาดเล็กและขนาดใหญ่นั้น จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 8% จาก 6-7% ในปัจจุบัน โดยการที่สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงประเภทถ่านหินเข้ามาในระบบมากขึ้นนั้น ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมลดลง ส่วนความคืบหน้าของการจัดตั้งโรงไฟฟ้ากระบี่นั้น ขณะนี้ยังอยู่เป็นการหารือในระดับคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปออกมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ