ธปท.แจงแก้พ.ร.บ.ขยายขอบเขตลงทุนของทุนสำรองฯครอบคลุมตราสารทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ-กระจายความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 14, 2015 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ตามที่ได้มีกระแสข่าวแสดงความห่วงใยในการที่ ธปท.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ธปท.เพื่อขยายขอบเขตการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศให้รวมตราสารทุนได้นั้น เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ธปท.ขอชี้แจง รายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

1.การเสนอเพิ่มประเภทของสินทรัพย์ให้รวมถึงตราสารทุน เป็นการขยายขอบเขตการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศให้ครอบคลุมหลักทรัพย์ที่กว้างขึ้นกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการบริหารความเสี่ยงของเงินสำรองระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ไม่ใช่การเสนอจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Fund) ที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ตอบแทนในระยะยาวจากการลงทุนในหุ้นและสินทรัพย์อื่นที่หลากหลายกว่ามาก ในการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศนั้น ธปท.จะต้องให้ความสำคัญกับสภาพคล่องของการลงทุน เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศจะต้องมีความพร้อมที่จะนำมาใช้ได้ตลอดเวลา

2.การวางแผนขยายขอบเขตการลงทุนให้ครอบคลุมถึงตราสารทุนนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เพื่อให้ ธปท. มีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดย ธปท.ได้ศึกษาเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมีการดำเนินการกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตนั้นการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนสูงขึ้น ในบางช่วงเวลาการลงทุนเฉพาะในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ อาจทำให้การบริหารเงินสำรองไม่มีประสิทธิภาพ การมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพในการบริหารการลงทุนได้ เช่น ในช่วงที่พันธบัตรของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ มีผลตอบแทนต่ำหรือติดลบ หรือค่าเงินสกุลหลักๆ อ่อนค่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารทุนอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ชดเชยได้

3.การลงทุนในตราสารทุนจะเป็นเพียงส่วนน้อยของเงินสำรองระหว่างประเทศ และจะเป็นการลงทุนเฉพาะในบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นบัญชีที่มีไว้เพื่อรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มิได้เกี่ยวข้องกับบัญชีทุนสำรองเงินตราที่มีไว้เพื่อหนุนหลังการออกธนบัตรแต่อย่างใด บัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นบัญชีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยต้องให้ความสำคัญต่อการบริหารสภาพคล่องเป็นอย่างดี

4.ในการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศนั้น จะมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ โดยมีการรายงานผลการบริหารและความเสี่ยงของการลงทุนต่อคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมโดยยึดหลักการตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย

5.ในการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ธนาคารกลางหลายแห่งได้ลงทุนในตราสารทุนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาทิ ธนาคารกลางมาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ