กพช.ขยายเวลา COD ของการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน FiT bidding เป็นปี 61

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 21, 2015 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันนี้เห็นชอบการปรับปรุงกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) เพื่อให้เกิดการลงทุนและสร้างประโยชน์ร่วมให้กับประชาชน และใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและแหล่งวัตถุดิบหรือแหล่งพลังงานทดแทนที่มีในพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยให้ขยายเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ภายใต้กลไกการแข่งขันราคา (Competitive Bidding) จากเดิมภายในปี 60 เป็นภายในปี 61

พร้อมทั้งให้ทบทวนปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารายพื้นที่ใหม่ โดยให้อ้างอิงจากศักยภาพการรับซื้อไฟฟ้าของปี 61 พร้อมทั้งปรับปรุงลำดับความสำคัญการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ เป็นดังนี้ 1.ขยะ (ชุมชนและอุตสาหกรรม) 2. พลังงานน้ำขนาดเล็ก 3. ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย/ของเสีย 4. ชีวมวล 5.ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 6. พลังงานแสงอาทิตย์ 7. พลังงานลม และ 8. พลังงานความร้อนใต้พิภพ

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะและพลังงานน้ำขนาดเล็กในรูปแบบ FiT ไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา และให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งดำเนินการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ (ชุมชนและอุตสาหกรรม) ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ร่วมกับ กกพ. พิจารณาปรับปรุงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ตามความเหมาะสม ยกเว้นอัตราการรับซื้อไฟฟ้า หากมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องนำเสนอกพช.

นอกจากนี้กพช.ยังเห็นชอบ นโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ปี 59-63 เพื่อให้สะท้อนต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการจัดหาไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาในแต่ละวัน การดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย และผู้สมควรได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงความมั่นคงและความยั่งยืนของพลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนอนุรักษ์พลังงาน และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย

นโยบายกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฯฉบับใหม่ ได้มุ่งเน้นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าตามต้นทุนเชิงพื้นที่ เช่น พื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งอัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริมการพัฒนาไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล และอัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าและการจัดการการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของประเทศ

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมฯได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1 โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุน เมื่อผ่านการพิจารณาจากอัยการสูงสุดแล้ว และให้กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1 ในขั้นการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้ที่ประชุมฯ

นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเห็นควรให้ กฟผ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านผ่านการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้า และให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณหมู่บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศ ยกเว้นการขายไฟฟ้าที่มีปริมาณมาก ให้หารือร่วมกับ กฟผ. เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ

รวมทั้งเห็นชอบในหลักการให้ กฟผ. และกฟภ. สามารถพิจารณาราคาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในแต่ละจุดเป็นอัตราที่อยู่ในอัตราเดียวกับที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ณ เวลานั้น รวมค่าชดเชยรายได้ต่อหน่วย และสามารถกำหนดรูปแบบราคาจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะที่อาจแตกต่างจากโครงสร้างค่าไฟในประเทศได้ โดยคำนึงถึงการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และการปรับปรุงหรือการสร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าไฟยังชายแดนา เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกับอัตราค่าไฟฟ้า

พลเอกอนันตพร กล่าวว่า ที่ประชุมฯยังเห็นควรให้การดำเนินการขายไฟฟ้าผ่านการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้คณะอนุกรรมการฯ รายงานผลการดำเนินงานต่อ กบง. และกพช. เพื่อทราบเป็นระยะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ