ธปท.มองราคาน้ำมันยังกดดันเงินเฟ้อปี 59 แต่คาดกลับสู่กรอบเป้าหมาย Q3/59

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2015 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทย โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงกลางปี 59 และจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินได้ในช่วงไตรมาส 3/59 ซึ่งในปีหน้านั้น ธปท.ยังคงเป้าหมายนโยบายการเงินโดยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2.5% +/-1.5% เช่นเดียวกับในปี 58 แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญด้วย

“ต้องยอมรับว่าเงินเฟ้อจะเป็นเท่าใดนั้น ถูกกำกับโดยราคาน้ำมันโลกค่อนข้างมาก และราคาน้ำมันช่วงนี้ยอมรับว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งปัจจัยอุปทานมีผลค่อนข้างมาก อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าของไทยคงต้องขึ้นกับสมมติฐานเรื่องราคาน้ำมันเป็นสำคัญ เพราะหากราคาน้ำมันต่ำกว่านี้ ก็ต้องเลื่อนเวลาที่เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติออกไป"นางรุ่ง กล่าว

นางรุ่ง กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ธปท.คงเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 59 ไว้เท่ากับในปี 58 ทั้งๆที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีหน้ามีโอกาสจะลดต่ำกว่าในปีนี้ เป็นเพราะธปท.ต้องการให้เป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวใช้สำหรับเป็นแผนหรือเป้าหมายในระยะกลางที่ให้นักลงทุนสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจ หรือประชาชนสามารถวางแผนการบริโภคได้โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยนัก ซึ่งเป้าหมายระยะกลางนี้คาดว่าจะอยู่ในช่วงระยะเวลา 3-5 ปี

"เราไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงบ่อย คนจะได้ยึดตัวนี้ นี่คือที่เราสื่อสารไปว่าทำไมถึงเป็นเป้าหมายระยะกลาง เพื่อให้เห็นถึงความต่อเนื่อง แต่ในระยะสั้นอัตราเงินเฟ้ออาจจะเคลื่อนออกจากเป้าได้ โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ ที่ปัจจัยด้านอุปทานมีอานุภาพค่อนข้างมาก แต่หลักๆ ที่เราใช้เป็นเป้าหมายระยะกลาง เพื่อจะให้เห็นว่าในท้ายที่สุดมันจะกลับไปสู่จุดนั้น เพียงแต่ระยะนี้อาจต้องใช้เวลา" นางรุ่ง กล่าว

นางรุ่ง ระบุอีกว่าแม้การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะเคลื่อนตัวออกจากกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่การคาดการณ์ถือว่าทำได้ถูกต้อง และเห็นว่าหลายประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็เผชิญกับสถานการณ์นี้ คือ เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีเพียงบางประเทศที่เงินเฟ้อเกินเป้าหมาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่ามากจากการได้รับแรงกดดันจากนโยบายการเงินโลก

“ส่วนใหญ่หลุดขาเดียวกับเรา คือต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งจะสะท้อนปัญหาเดียวกัน คือ ปัญหาราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าที่ทุกคนคาด แต่ปัญหาอุปทานนี้คงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งก่อนที่จะกลับเข้าสู่ new normal"นางรุ่ง กล่าว

ขณะเดียวกันธปท. ยังได้เผยแพร่บทความเรื่อง"เป้าหมายนโยบายการเงินปี 2559 และเป้าหมายระยะปานกลาง" โดยระบุว่า การกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5 +/- 1.5 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 59 และเป็นเป้าหมายระยะปานกลางนั้น ยังมีความท้าทายอยู่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและมีความไม่แน่นอนสูง

อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ประเมินว่าแรงกดดันด้านต่างๆจากฐานราคาน้ำมันที่สูงจะทยอยหมดลง ขณะเดียวกันนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อยๆ ปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเป็นบวกได้ในครึ่งแรกของปี 59 กลับเข้าสู่ขอบล่างของเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 59 และทยอยปรับเข้าใกล้ค่ากลางของเป้าหมายในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้าจากปัจจุบัน

ทั้งนี้ หาก กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะชี้แจงสาเหตุ ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมาย โดยที่ กนง.จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตและเสถียรภาพของเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน

สำหรับการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินในรูปแบบระดับหรือช่วงของอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมนับเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) เนื่องจากเป้าหมายเงินเฟ้อที่เหมาะสมนั้นจะช่วยให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาว ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้เต็มศักยภาพและยั่งยืน

เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะต้องไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายที่สูงเกินไปจะทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง และอาจทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเนื่องจากต้นทุนและราคาสินค้าโดยทั่วไปจะปรับสูงขึ้นเร็วกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง นอกจากนี้ยังส่งผลให้ความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนลงทุนของภาคธุรกิจและกระทบต่อความสามารถของธนาคารกลางในการดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนในระยะยาว

ในทางตรงข้ามหากกำหนดเป้าหมายต่ำเกินไปอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดปัญหาภาวะเงินฝืด ซึ่งจะทำให้ประชาชนชะลอการบริโภคออกไปและบั่นทอนแรงจูงใจการผลิตและการลงทุนของภาคเอกชน นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ มักจะทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำลงโดยเฉลี่ย ซึ่งหากศรษฐกิจซบเซาและธนาคารกลางต้องการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ไม่มาก ก็จะติดขอบล่างที่ศูนย์(Zero Lower Bound) จึงเป็นข้อจำกัดสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงิน

ธปท.ระบุว่า เป้าหมายนโยบายการเงินในปี 59 มีความเหมาะสมเนื่องจาก (1) สอดคล้องกับพื้นฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากค่ากลางของเป้าหมายที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว เป็นระดับที่เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับศักยภาพ รวมทั้งใกล้เคียงกับเป้าหมายของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศด้วย และสามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนได้ดี สะท้อนจากการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวที่ทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย

นอกจากนี้ การกำหนดให้มีค่ากลางของเป้าหมายที่ร้อยละ 2.5 เป็นการส่งสัญญาณว่า กนง. จะดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อาจเบี่ยงเบนออกจากค่ากลางของเป้าหมายในระยะสั้นให้กลับเข้าสู่ค่ากลางของเป้าหมายในระยะปานกลาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน ขณะที่การกำหนดกรอบ (range) ที่ร้อยละ +/-1.5 เพื่อให้เป้าหมายเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับความผันผวนจากปัจจัยชั่วคราว การดำเนินนโยบายการเงินจึงไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อปัจจัยระยะสั้นมากเกินไปจนอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินจนกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ

ส่วนการกำหนดให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นเป้าหมายระยะปานกลางด้วยนั้นเพื่อสื่อสารให้ประชาชนสามารถวางแผนการบริโภคและการลงทุนได้ อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับกลไกการทำงานของนโยบายการเงินต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 ไตรมาสกว่าจะมีผลเต็มที่ ทั้งนี้ ธนาคารกลางที่ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเกือบทุกประเทศต่างกาหนดเป้าหมายนโยบายการเงินเป็นเป้าหมายระยะปานกลาง

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 58 คาดว่าจะติดลบที่ร้อยละ 0.9 ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน แต่ กนง. ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 59 เท่ากับเป้าหมายในปี 2558 เพื่อส่งสัญญาณว่า กนง.จะดำเนินนโยบายการเงินโดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้ามการปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อลง อาจทำให้สาธารณชนตีความว่า กนง.จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นและอาจกระทบต่อการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 58 ที่ติดลบสาเหตุหลักมาจากราคาน้ามันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็วและยังอยู่ในระดับต่ำ ตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของตลาดน้ามันโลก ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในหลายประเทศปรับลดลงและอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย อาทิ สวีเดน สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น ขณะที่ มีบางประเทศที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะค่าเงินที่อ่อนค่าอย่างมาก โดยรวม มี 22 ประเทศจาก 26 ประเทศที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 58 อยู่นอกกรอบเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้อัตราเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ จะอยู่นอกกรอบเป้าหมายเพราะราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่การดำเนินนโยบายการเงินโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวมีข้อจำกัดในการดูแลแรงกดดันเงินเฟ้อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยด้านอุปทาน ธนาคารกลาง ในหลายประเทศจึงได้สื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ ชี้แจงสาเหตุ แนวทางการดำเนินการ และระยะเวลาที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบ เพื่อช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน ในช่องทางการสื่อสารเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน (Accountability Mechanism) ที่แตกต่างกันออกไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ