ครม.เห็นชอบร่างนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ปรับปรุงองค์กร กนศ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2016 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ เพื่อปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อให้ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) และปรับปรุงองค์ประกอบของ กนศ. ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

พร้อมทั้งอนุมัติให้ยกเลิกคณะทำงานยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าของประเทศตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ เสนอว่าตามที่ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ พกค. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางเพื่อกาพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ กำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์เพื่อการส่งออก การนำเข้าปัจจัยการผลิตและสินค้าที่จำเป็นต่อการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งบูรณาการการพัฒนาและขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ

แต่ปรากฏว่าอำนาจหน้าที่บางส่วนของ พกค. มีความซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ กนศ.ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น เพื่อให้มีความชัดเจนและให้การดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของ กนศ. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมิให้เกิดผลเสียหายการดำเนินนโนยบายและยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้

ประกอบกับเพื่อให้เกิดการบูรณาการกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับมิติทางสังคม วิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สมควรปรับปรุงอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบของ กนศ. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว

นอกจากนี้ คณะทำงานยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าของประเทศ ซึ่งมีบทบาทหลักในการสนับสนุนการดำเนินงานของ กนศ.แต่มิได้มีสถานะเป็นอนุกรรมการภายใต้ กนศ. จึงจำเป็นต้องมีการยกเลิกคณะทำงานดังกล่าว เพื่อให้ กนศ. สามารถพิจารณาแต่งตั้งอนุกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในลักษณะเดียวกันเพื่อสนับสนุนการทำงานของ กนศ. ได้ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกันมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ