ครม.อนุมัติจัดทำ-ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านท่องเที่ยวในอาเซียน+3

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2016 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (Memorandum of Cooperation between the Governments of the Member States of the Association of Southeast Asian Nations and the Governments of the People’s Republic of China, Japan and the Republic of Korea on Strengthening Tourism Cooperation)

ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญให้ กก.พิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยมอบหมายให้นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่ผู้ลงนามบันทึกความร่วมมือฯ

สำหรับร่างบันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์การพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวตามความเหมาะสมประชาสัมพันธ์มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมและการรับรองแผนงานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของธุรกิจชุมชน และภาคส่วนอื่นด้านการท่องเที่ยวในตลาดท่องเที่ยวนิทรรศการและเทศกาลท่องเที่ยว โดยเน้นย้ำถึงจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวและสินค้าของคู่ภาคี

รวมถึงการจัดทำตลาดร่วมด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมด้านประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสนับสนุน และส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้สำเร็จร่วมกัน โดยศูนย์อาเซียน – จีน ศูนย์อาเซียน – ญี่ปุ่น และศูนย์อาเซียน – เกาหลี และการสื่อสารในสภาวะวิกฤติเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว และ/หรือสถานที่ท่องเที่ยว โดยแบ่งปันข้อมูลอย่างถูกต้องและตรงเวลาแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน พ.ศ. 2559 -2568 (ASEAN Tourism Strategic Plan: ATSP 2016 - 2025) โดยมีสาระสำคัญ คือกำหนดวิสัยทัศน์: “ภายในปี พ.ศ.2568 อาเซียนจะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอาเซียนที่มีคุณภาพ โดยนำเสนอความหลากหลายผ่านประสบการณ์อาเซียนอันนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน มีความครอบคลุมในทุกมิติอย่างมีสมดุล เพื่อนำไปสู่การกินดีอยู่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมประชาชนอาเซียน”

อาเซียนได้วางมาตรการที่จำเป็นและปรับปรุงจากข้อมูลที่มีอยู่เดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อให้การดำเนินการบรรลุถึงวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า อาทิ การวางมาตรการทางการตลาดเพื่อให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกัน การบูรณาการในการทำงานร่วมกันในการเชื่อมโยงหลัก ๆ ด้านการลงทุน ความปลอดภัย การรักษาและปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตลอดจนการพัฒนาสินค้าและการตลาดด้านการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค เช่น กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region: GMS)กลุ่มประเทศสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)

รูปแบบการท่องเที่ยวอาเซียนจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ประกอบด้วย 1) เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชนในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว โดยพัฒนาและนำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวมาใช้ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของชุมชนท้องถิ่นและภาคเอกชน

2) ปรับปรุงและพัฒนาความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในระดับโลกให้มากขึ้น รวมถึงขยายระบบอุทยานที่เป็นมรดกของอาเซียน และการสร้างสรรค์และออกแบบอุทยานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ ของอาเซียน

3) เพิ่มความรับผิดชอบของการท่องเที่ยวอาเซียนต่อการปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจัดเตรียมคู่มือเพื่อแจกจ่ายให้แก่อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวในอาเซียนโดยตรง สำหรับใช้เป็นแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนเป็นแนวทางในการบรรเทา ปรับตัว และแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมให้เป็นไปอย่างยืดหยุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ