(เพิ่มเติม) ธปท. เผย ธ.ค.58 เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นต่อเนื่องจากใช้จ่ายในปท.ขับเคลื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 29, 2016 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน ธ.ค.58 ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับผลบวกเพิ่มเติมจากปัจจัยชั่วคราว การใช้จ่ายในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนที่ส่วนหนึ่งได้รับผลบวกจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าหดตัวสูงเพระได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอลง รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกหลายชนิดยังคงปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึงในทุกภาคส่วนส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงตามมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 4/58 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนตามความสามารถในการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคบริการที่ขยายตัวดี และการบริโภคภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำ และส่วนหนึ่งได้รับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพิ่มเติม แต่ยังมีปัจจัยถ่วงจากรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูงจากผลของราคาสินค้าหลายชนิดที่หดตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและปริมาณที่หดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียนเป็นหลัก ด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นบ้าง โดยการลงทุนในบางสาขาธุรกิจดีขึ้นตามการลงทุนในภาคโทรคมนาคมและพลังงานทดแทน

นางรุ่ง กล่าวว่า ในปี 58 ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และเป็นส่วนต่างจากการนำเข้าที่ชะลอตัว ซึ่งการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูงก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับแต่ละมุมมอง ทั้งนี้หากตัดผลจากราคาน้ำมันออกไป ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะลดลงราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากที่ในปี 58 ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ 34,839 ล้านดอลลาร์

สำหรับข้อดีที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงนั้น ก็จะทำให้ประเทศไทยไม่ถูกจับตามองจากต่างประเทศว่าไทยมีจุดอ่อนในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวน ขณะที่ข้อเสียนั้น ถือว่าไม่สะท้อนความเข้มแข็งของกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการนำเข้าที่น้อย ไม่ได้มาจากการส่งออกที่มาก

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ในปีนี้ มองว่าจะยังเป็นบวกแต่อยู่ในระดับต่ำ และคงไม่เข้าใกล้ระดับ 0% หรือมีอัตราที่ติดลบ ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากการบริโภคยังสามารถขยายตัวได้โดยประชาชนก็ยังไม่ได้ชะลอการบริโภค แม้จะมองว่าราคาสินค้าไม่มีแนวโน้มจะลดต่ำลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ