นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.63/65 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 35.59/61 บาท/ดอลลาร์เล็กน้อย
"ถ้าเทียบกับเมื่อเย็นวานนี้ ถือว่าเด้งขึ้นมาเล็กน้อยแต่ไม่มาก ดูแล้วทิศทางยังมีโอกาสแข็งค่า เหมือนมีการเริ่มปิด Position ก่อน กนง. คนที่ขายเมื่อหลายๆวันที่แล้ววันนี้ก็เริ่มกลับมาซื้อบ้าง แต่ก็ไม่ได้ขยับขึ้นมาก ด้านบนก็ยังมีคนรอขายดอลลาร์อยู่เยอะ เมื่อวานลงไปแถวๆ 35.60 แล้วติดก็มาซื้อกลับวันนี้"นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทยังคงมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 35.50-35.70 บาท/ดอลลาร์
- ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.75 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 121.20 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0920 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 1.0858 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 35.6550 บาท/ดอลลาร์
- นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย คาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 3 ก.พ.นี้มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เช่นเดิม โดยจากรายงานการประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมา ธปท.ยังคงมองว่าระดับการผ่อนคลายทางการเงินอยู่ในระดับที่สมควรแล้ว จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับค่าเงินของคู่ค้าเป็นส่วนใหญ่
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานการเคลื่อนย้ายของเงินทุนล่าสุดสิ้นปีที่ผ่านมา พบว่าดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ณ สิ้นปี 58 เป็นการไหลออกของเงินทุนทั้งจากนักลงทุนต่างประเทศที่ทยอยนำเงินที่เคยลงทุนออกไปจากประเทศ และจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นของนักลงทุนไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยสิ้นปีมีเงินไหลออกสุทธิทั้งสิ้น 18,788 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 676,368 ล้านบาท (ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2558 ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)
- "พาณิชย์" เตรียมชงครม.อนุมัติงบ 1.5 พันล้านบาทหวังปฏิรูปการค้าและส่งออก ควบปฏิรูปเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า ตั้งเป้าหนุนแบรนด์ไทยโกอินเตอร์ 40 แบรนด์ใน 5 ปี พร้อมขนสินค้าไทยไปแสดงในกัมพูชาระหว่าง 3-7 ก.พ.นี้ คาดสร้างมูลค่าซื้อขายไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่มีการจัดประชุมฉุกเฉิน แม้ว่าราคาน้ำมันยังคงอยู่ในทิศทางขาลงก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนเข้ามาเทขายทำกำไร หลังจากสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดบวกติดต่อกันหลายวันทำการก่อนหน้านี้ โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ร่วงลง 2 ดอลลาร์ หรือ 6% ปิดที่ 31.62 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค.ดิ่งลง 1.75 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 34.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
- การผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) พุ่งขึ้นในเดือนม.ค. แตะระดับ 32.60 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปี
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) เพราะได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง อันเนื่องมาจากข้อมูลที่ระบุว่า ภาคการผลิตของสหรัฐหดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนม.ค. รวมทั้งความคิดเห็นของนายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 11.6 ดอลลาร์ หรือ 1.04% ปิดที่ 1,128.00 ดอลลาร์/ออนซ์
- ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลักอื่นๆเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) ท่ามกลางข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐที่อ่อนแอ และความคิดเห็นของนายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
- นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุเตือนว่า ความเสี่ยงในช่วงขาลงที่เศรษฐกิจยุโรปกำลังเผชิญอยู่ ได้เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะปั่นป่วนในตลาดเกิดใหม่
- นายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าความผันผวนของตลาดทั่วโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างไร
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดลง 0.1% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน แต่เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2014
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนธ.ค. และหนุนให้การใช้จ่ายในปี 2015 พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานวันนี้ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคทรงตัวในเดือนธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ย.