(เพิ่มเติม) ไทย-อินโดฯ-มาเลย์ จับมือลดปริมาณส่งออกยาง 615,000 ตันในช่วง 6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2016 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความร่วมมือไตรภาคียางพาราว่า ประเทศผู้ส่งออกยาง 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะลดปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติในปีนี้เป็นจำนวน 615,000 ตัน เป็นช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 ส.ค.59

ทั้งนี้ ภายใต้ปริมาณการส่งออกที่ลดลง 615,000 ตันนั้น แต่ละประเทศจะลดปริมาณการส่งออกยางลงประเทศละ 10% โดยไทยจะลดปริมาณการส่งออกลง 324,005 ตัน อินโดนีเซีย 238,736 ตัน และ มาเลเซีย 52,259 ตัน โดยในปี 58 ไทยมีปริมาณการส่งออกยาง 3,783.2 ล้านตัน อินโดนีเซีย 2,684.7 ล้านตัน และ มาเลเซีย 1,069 ล้านตัน (ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.anrpc.org หรือ Association of Natural Rubber Producing Countries (ANRPC) ซึ่งมีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ คือ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม)

อนึ่ง เฉพาะไทย อินโนีเซีย มาเลเซีย ส่งออกยางรวมกันคิดเป็น 65% ของการส่งออกยางในตลาดโลก

ขณะเดียวกันทั้ง 3 ประเทศ ตกลงที่จะใช้มาตรการส่งเสริมการบริโภคยางพาราในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การนำมาใช้เป็นส่วนผสมของถนนยางพารา ผลิตแผ่นรองรางรถไฟ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเทศ

"ทั้ง 3 ประเทศเชื่อว่าการใช้มาตรการลดปริมาณการส่งออก และเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น จะช่วยผลักดันและแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำให้กลับสู่ระดับราคาที่ยุติธรรม เหมาะสม แก่เกษตรกร...ซึ่งเชื่อว่าหลังข่าวประกาศความร่วมมือนี้ออกไปอาจจะมีผลต่อราคาทันที เชื่อว่าภายใน 1 เดือนจะเกิดความเปลี่ยนของราคายาง เพราะเป็นเรื่องของกลไกทางการตลาดจริงๆ "นายสุรพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการของไตรภาคี จะมีการประชุมประเมินสถานการณ์หลังเริ่มใช้มาตรการนี้ว่า แต่ละประเทศได้ดำเนินการข้อตกลงนี้โดยเคร่งครัดหรือไม่ ซึ่งมั่นใจว่าข้อตกลงนี้ซึ่งกระทำโดยระดับรัฐมนตรีของประเทศไม่น่าจะมีฝ่ายใดกระทำผิดข้อตกลง

โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวถึงผลกระทบหลังการลดการส่งออกยางว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์เพราะรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้เป้าหมาย 1 แสนตันก็ยังยืนยันว่าจะนำยางพาราคาจากเกษตรกรไปใช้ประโยชน์ต่อยอดเพิ่มมูลค่า รวมทั้งช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ขอความร่วมมือจาก 5 เสือบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ก็ได้รับคำตอบว่าพร้อมจะร่วมมือ ขณะที่ด้านการตรวจสอบสต็อกยาง ทางกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ตรวจสอบสถิติย้อนหลังว่าในช่วงนี้ของปีที่ผ่านๆมา แต่ละบริษัทส่งออกยางปริมาณเท่าไหร่ ก็จะสามารถควบคุมกำกับและควบคุมปริมาณส่งออกได้ตามเป้า และไม่ได้กำหนดมาตรการลงโทษ

ส่วนความคืบหน้ามาตรการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรรายย่อย 100,000 ตัน นั้น รับซื้อไปแล้วจำนวน 750 ตัน ซึ่งสาเหตุที่เกษตรกรยังนำยางมาขายไม่มากนัก เนื่องจากเป็นเกษตรกรรายย่อยที่นำยางมาขายในปริมาณไม่มาก ไม่สะดวกในการเดินทางมายังศูนย์ฯรับซื้อ อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย ได้ปรับขั้นตอนการรับซื้อให้ง่ายขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรที่นำยางมาขาย อีกทั้ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับเรื่องการเบิกจ่ายเงินให้ถึงมือเกษตรกรอย่างรวดเร็ว จาก 2 วัน เป็น 1 วัน อีกด้วย

"ผู้ส่งออกยางจะรับซื้อจากเกษตรกรเข้าสต็อกตัวเองและค่อยๆปล่อย จะไม่กระทบกลไกตลาดในประเทศ ขณะที่จำนวน 1 แสนตันที่รัฐบาลรับซื้อจากเกษตรกรรายย่อยซึ่งจะเป็นเกษตรกรคนละกลุ่มกัน"นายสุรพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ