"อภิศักดิ์"มอบนโยบาย SMEBank ดูแลเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ-ลดหนี้เสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 12, 2016 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ว่า ได้สั่งการให้เอสเอ็มอีแบงก์ดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยเฉพาะรายเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินโดยทั่วไปได้ ทั้งการให้สินเชื่อ และความรู้ และต้องทำหน้าที่ให้แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ จากการรายงานของเอสเอ็มอีแบงก์ ยอมรับว่า เป็นแผนงานที่ดี โดยได้สั่งให้เอสเอ็มอีแบงก์เร่งสร้างความเข้มแข็ง เนื่องจากปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซุปเปอร์บอร์ด ได้ให้เอสเอ็มอีแบงก์สร้างความเข้มแข็งในอนาคต เพราะปัจจุบันมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงถึงกว่า 20% ดังนั้นจะต้องทำอย่างไรให้ธนาคารอยู่รอดได้ และเป็นตัวหลักในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มั่นคง

"แผนงานของเอสเอ็มอีแบงก์ โดยเฉพาะการลดหนี้เสีย ระบุว่าจะลดปีละ 4-5% ซึ่งถือว่าเยอะมากและดีแล้ว เพราะการจะทำให้หนี้เสียลดลงทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ โดยการดูแลนั้นคงต้องดูแต่ละรายหากรายไหนสามารถแก้ไขได้ อาจเข้าไปดูแล ปรับโครงสร้าง หรือฟื้นฟูแล้วแต่กรณี พร้อมสั่งการให้เอสเอ็มอีแบงก์ดูแลในเรื่องของเอสเอ็มอีเริ่มต้นที่จะต้องมีการประสานงานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด ส่วนวงเงินก้อนแรกที่ลงทุนนั้น จะเป็นเงินจากรายได้ของกระทรวงการคลัง" นายอภิศักดิ์ กล่าว

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาได้เสนอ คนร.ให้เห็นชอบเป้าหมายและแผนการดำเนินงานในปี 2559 โดยตั้งเป้าหมายลดเอ็นพีแอลเหลือไม่เกิน 20% หรือเป็นวงเงินหนี้ 1.8-2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 26% ของสินเชื่อรวมที่ 1-1.2 แสนล้านบาท

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า รมว.คลัง ได้มอบนโยบายแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดังนี้ 1. ธพว. ควรดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง คือการเติมเต็มช่องว่างทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ รวมถึงการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาโดยการ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย การฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการสร้างงานของประเทศ

2. มอบหมายให้กรรมการและฝ่ายบริหาร ธพว. ดำเนินการวางระบบการบริหารและกระบวนการในการปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติ และระเบียบของ ธพว. ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อเป็นการวางรากฐานและสร้างความยั่งยืนให้แก่ ธพว.

3. เห็นควรให้ ธพว. ดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เช่น การจัดทำระบบบัญชีเดียว ระบบ E – Payment เป็นต้น โดยเฉพาะการให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการจัดทำระบบบัญชีเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น

4. เห็นควรให้ ธพว. ประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น เช่น ธนาคารออมสิน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ