กพท.คาดตรวจ-ออก AOC ให้ 28 สายการบินพร้อมเชิญ ICAO ตรวจปลายปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2016 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า การตรวจสอบสายการบินทั้ง 41 สาย จะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดย 3 กลุ่มแรกเป็นสายการบินที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศรวม 28 ราย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 จำนวน 7 สายการบิน คือสายการบินที่มีฝูงบินขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม กลุ่มที่ 2 จำนวน 13 สายการบิน โดยส่วนใหญ่เป็นสายการบินแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด และ กลุ่มที่ 3 มีจำนวน 8 สายการบินที่มีขนาดฝูงบินรองลงมา

ทั้งนี้ ตามแผนหากการตรวจสอบทั้ง 28 สายแล้วเสร็จ กพท.จะเข้าสู่ขั้นตอนการรายงานไปยังองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้เข้ามาตรวจซ้ำเพื่อแก้ SSC และปลดธงแดงสายการบินจากไทย โดยประเมินว่าจะตรวจสอบทั้ง 28 สายการบินเสร็จประมาณปลายปี 59 จากนั้นจะเริ่มตรวจ 13 สายการบินภายในประเทศที่เหลือ

“ช่วงปลายปลายนี้ คาดว่าจะตรวจและออก AOC ให้ 28 สายการบินได้ จากนั้นกพท.จะประเมินว่ามีความพร้อมแล้วหรือยังในการแจ้ง ICAO เข้ามาตรวจซ้ำ เรื่องSSC 33 ข้อ แก้ไขก้าวหน้าเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้าไม่มั่นใจอาจจะขยับไปเป็นต้นปี 60 ได้ เนื่องจากการตรวจซ้ำครั้งนี้ หากไม่ผ่าน จะต้องรออีก 5 ปี จึงจะให้ICAO มาตรวจซ้ำได้"นายจุฬา กล่าว

นายจุฬา กล่าวว่า แผนการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน แบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. การจัดตั้ง กพท. ซึ่งได้เสนอรายละเอียดโครงสร้างกพท. อัตรากำลังแผนการบรรจุบุคลากรเพิ่ม และการสรรหาผู้อำนวยการ กพท. ซึ่งภายในเดือนพ.ค. นี้ จะสรรหาผอ.กพท.ได้ และบรรจุบุคลกรได้ครบ 2. แผนการฝึกอบรมผู้ตรวจสอบด้านความปลอดภัยสายการบิน เพื่อทำหน้าที่ออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) โดยจะมีผู้ตรวจสอบทั้งฝ่ายการบิน 17 คน และฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน 52 คน 3. แผนการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากองค์การการบินพลเรือนแห่งสหราชอาณาจักร (CAAI) จำนวน 14 ราย ซึ่งจะเป็นรายละเอียดTOR การจ้าง

และ 4. แผนแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น ความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือด้านการบินในกลุ่มสหภาพยุโรป (EASA) ด้านการพัฒนาศักยภาพการกำกับดูแล ซึ่งจะเริ่มในเริ่มในเดือนพ.ค.นี้ และความร่วมมือด้านวิชาการกับกรมการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น ( JCAB) ที่จะให้ความช่วยเหลือเรื่องระบบการกำกับดูแลตรวจสอบศูนย์ซ่อม อากาศยาน โดยจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าในเดือนพ.ค.นี้

นายจุฬา กล่าวว่า กำหนดให้สายการบินต่างๆ รายงานงบการเงินในรอบปี 58 (ม.ค.-ธ.ค. 58) ภายในวันที่ 31 มี.ค.59 ส่วนที่มี 4 สายการบินที่ถูกตรวจสอบสถานะทางการเงินแล้วมีปัญหาสภาพคล่อง เป็นการตรวจในภาพรวม ซึ่งเมื่อพบว่าสายการบินใดมีปัญหาก็จะต้องจับตาเป็นพิเศษ แต่ยังไม่มีการเพิกถอนใบอนุญาต เป็นเพียงการเฝ้าระวัง และหากพบว่าสถานะการเงินไม่เหมาะสมที่จะประกอบธุรกิจต่อไป กพท.สามารถเพิกถอนได้ ส่วนการระงับบินชั่วคราวจะยังไม่กระทบใบอนุญาตการบิน

สำหรับกรณีสายการบินซิตี้แอร์เวย์ที่ถูกให้พักบิน หากทางสายการบินสามารถชี้แจงแก้ปัญหาได้ก็จะกลับไปทำการบินได้ ซึ่งปัญหาของซิตี้แอร์เวย์ เนื่องจากมีการพูดคุยกันแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.58 ได้มีการขอเพิ่มเที่ยวบินและเพิ่มจำนวนเครื่องบิน ซึ่ง กพท.ขอให้บริษัทไปแก้ปัญหาเรื่องสถานะทางการเงินให้เรียบร้อยก่อน เพราะเป็นการขยายตัวมากไปขณะที่ยังมีปัญหาสถานะการเงิน แต่บริษัทไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ ที่สุดจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ก.พ.

“การบินแบบเช่าเหมาลำไปต่างประเทศนั้นจะต้องขอ Flight Permit จาก กพท. แต่ได้ตกลงกันว่า หลังบริหารจัดการผู้โดยสารวันที่ 18 ก.พ.แล้ว จะไม่ออก Flight Permit ให้จนกว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินกันก่อน เป็นการเตือนจึงไม่ออก Flight Permit ให้ เพราะเรื่องสถานการณ์เงินสำคัญต่อการบริหารสายการบินได้"นายจุฬา กล่าว

ส่วนนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 ก.พ. ได้มีมติเห็นชอบแผนแก้ปัญหาด้านการบินตามที่ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศปบพ.) พร้อมกับรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาบมจ. สายการบินนกแอร์ (NOK) ยกเลิกเที่ยวบินเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ กพท. ตรวจสอบคำชี้แจงของนกแอร์ถึงแหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่

ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา กพท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ 15 คน เข้าไปร่วมประชุมเพื่อตรวจสอบการทำงานของนกแอร์ในประเด็นชั่วโมงบินของนักบิน, จำนวนนักบิน,จำนวนเที่ยวบิน, จำนวนเครื่องบิน และการให้บริการต่างๆ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับและเงื่อนไขในอนุญาต ซึ่งอยู่ระหว่างประมวลก่อนจะรายงานมายังกระทรวงคมนาคม โดยกรณีการตรวจสอบเรื่องชั่วโมงบินของนักบินนั้น หากพบว่านักบินทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด จะต้องถูกลงโทษ ซึ่งมีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน

ส่วน 14 สายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศนั้น กระทรวงคมนาคมได้เรียกประชุมโดยสั่งให้จัดแผนงาน ประกอบด้วย 1. แผนฉุกเฉินเผชิญเหตุ ในกรณีต่างๆ 2. แผนบริหารความเสี่ยงขององค์กร ทั้งแผนด้านการเงิน ด้านบุคลากร, แผนจัดการความเสี่ยงระบบไอที พร้อมกันนี้ได้สั่งให้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ทำแผนการผลิตบุคลากรด้านการบิน ทั้งนักบิน,ช่างซ่อมและลูกเรือด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ