(เพิ่มเติม) สศค.ระบุเศรษฐกิจ ม.ค.รับปัจจัยหนุนใช้จ่ายรัฐ-ท่องเที่ยวดี จับตาใช้จ่ายเอกชนชะลอ-ส่งออกหดต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 26, 2016 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ม.ค.59 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายรัฐบาลและภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง และการส่งออกสินค้าของไทยที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ หดตัว -1.2% ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวเล็กน้อย

"การส่งออก (ในเดือน ม.ค.) ที่ติดลบ 8.9% นั้นจะท้าทายมากขึ้น โดยหากต้องการให้ตัวเลขการส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ 0.1% ภาพรวมการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 11 เดือนจะต้องเป็นบวกเท่านั้น"น.ส.กุลยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม สศค. ยังคงเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.7% ภายใต้เงื่อนไขภาวะเศรษฐกิจในระดับปัจจุบัน โดยมีการรวมผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดไม่เกิน 0.15% และมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวที่รัฐบาลได้เร่งออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ โดย สศค.จะมีการทบทวนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยอีกครั้งตามกำหนดในเดือน เม.ย.59

น.ส.กุลยา กล่าวว่า ภาคการส่งออกเป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วงและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้อาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าโดยเฉพาะจีน ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย การใช้นโยบายทางการเงินของประเทศมหาอำนาจที่ยังไม่สอดคล้องกัน รวมไปถึงแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงขาลงที่จะส่งผลกระทบกับราคาสินค้าเกษตร

ขณะที่ปัจจัยบวกยังมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในส่วนต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่น รวมถึงการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ผ่านมาตรการด้านภาษี และการสนับสนุนจากบีโอไอ การให้ความช่วยเหลือในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในหลายภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตด้วย

"ตอนนี้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศหันมาพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ลดการนำเข้าลง ส่งผลให้หลายประเทศต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเรื่องส่งออก โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบเปิด เช่น ไทย ประกอบกับไทยมีการไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แล้วค่อยส่งรายได้กลับมา จึงเป็นเหตุผลให้การส่งออกของเราอาจไม่ดีนัก แต่หากมองในภาพรวมของสัดส่วนการส่งออกแล้วไทยไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อน ดังนั้นหลังจากนี้การวิเคราะห์เศรษฐกิจอาจจะต้องดูรวมไปถึงผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GNP) ควบคู่ไปกับ GDP" น.ส.กุลยา กล่าว

ทั้งนี้ สศค.แถลงว่า ในเดือน ม.ค.59 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 64.4 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 12.9% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตภูมิภาค ส่วนหนึ่งจากการกระตุ้นยอดขายในช่วงปีใหม่ของผู้ประกอบการ กอปรกับเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นมากในเดือนก่อนหน้า ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวเล็กน้อยที่ -3.5% ต่อปี

การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัว -5.6% ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเร่งโอนไปแล้วในช่วงเวลาก่อนหน้าก่อนที่ราคาประเมินที่ดินใหม่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค.59 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาหดตัวในรอบ 2 เดือน ที่ -0.3% ต่อปี ในขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่หดตัวเช่นกันที่ -6.2% ต่อปี ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ปรับตัวลดลงตามราคาตลาดโลก อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ 2.9% ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า ขยายตัวเช่นกันที่ 4.9% ต่อปี

สถานการณ์ด้านการคลัง สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 259.9 พันล้านบาท ขยายตัว 20.5% ต่อปี โดยเป็น การเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 241.0 พันล้านบาท ขยายตัว 21.8% ต่อปี

แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำขยายตัว 22.0% ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุนขยายตัว 19.6 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 156.4 พันล้านบาท หดตัว -2.6% ต่อปี ทั้งนี้ ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -109.7 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังด้านรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัว -8.9% ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวในเกือบทุกกลุ่มสินค้าส่งออก โดยเฉพาะน้ำมันและเชื้อเพลง และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ภาพรวมการส่งออกรายตลาดหดตัวเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก ได้แก่ อาเซียน-5 ญี่ปุ่น และสหรัฐ เป็นสำคัญ แต่ตลาดส่งออกไปกลุ่มประเทศ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และ CLMV ยังขยายตัวเป็นบวก

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.0 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงที่ 15.0% ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจากจีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ขณะที่รัสเซียยังคงหดตัว

นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัว 2.8% ต่อปี จากข้าวเปลือกที่มีปริมาณผลผลิตออกมามากจากการเลื่อนการทำนาช่วงกลางปี 58 และผลผลิตในกลุ่มไม้ผลที่ขยายตัวได้ดีในเกือบทุกหมวด รวมถึงดัชนีในหมวดปศุสัตว์และประมงที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับลดลงในรอบ 5 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 86.3 เนื่องจากความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศจากการเร่งใช้จ่ายในเดือนก่อนหน้า ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.46 แสนคน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงหดตัวที่ -0.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.6% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ธ.ค.58 อยู่ที่ระดับ 44.4% ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60.0%

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ม.ค.59 อยู่ที่ระดับ 160.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.0 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ