พาณิชย์ ดึงผู้ซื้อยางจากทั่วโลกเจรจาผู้ผลิตไทย คาดยอดทะลุกว่า 1 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 29, 2016 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เชิญผู้ซื้อยางพาราและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศรวม 147 บริษัท จาก 28 ประเทศ เช่น จีน อาเซียน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐรัสเซีย แอฟริกาใต้ ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี เป็นต้น เดินทางมาไทยเพื่อจับคู่ซื้อขายกับผู้ผลิตสินค้าจากยางพาราของไทย 109 บริษัท ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางที่ผู้ซื้อต่างประเทศสนใจ ได้แก่ ยางล้อ, ยางตัน หมอนและที่นอนยางพารา, ยางธรรมชาติ, ถุงมือยาง และไม้ยาง เป็นต้น โดยคาดว่าการจับคู่ธุรกิจครั้งนี้จะเกิดการซื้อขายกว่า 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างผู้จำหน่ายไทยคือ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด กับผู้นำเข้าจีน 3 ราย ได้แก่ บริษัท Qingdao Runlian ลงนามซื้อขายยางแท่ง STR20 จำนวน 50,000 ตัน บริษัท Shanghai Han Qing Import & Export ลงนามซื้องยางแท่ง STR20 จำนวน 30,000 ตัน และบริษัท Shanghai Ting Qing Industry ลงนามซื้อยางแผ่นรมควัน 30,000 ตัน รวมเป็น 110,000 ตัน มูลค่า 3,850 ล้านบาท

"นอกจากการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อซื้อขายยางแล้ว กระทรวงฯ ยังเร่งเพิ่มช่องทางการส่งออกยางพารา เพื่อผลักดันราคา ล่าสุด ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศว่าได้จัดคณะผู้ประกอบการไทยไปขายยางพาราที่อินเดีย สามารถตกลงซื้อขายไม้ยางคิดเป็นมูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ" รมว.พาณิชย์ กล่าว

นางอภิรดี ยังกล่าวถึงการเดินทางไปเยือนรัสเซียและเบลารุสของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีว่า รัสเซียตกลงที่จะซื้อยางพาราจากไทย 80,000 ตัน ซึ่งหลังจากนี้จะตกลงรายละเอียดการซื้อขายและลงนามระหว่างกัน ส่วนเบลารุสนั้น บริษัท เจเอสซี เบลซีน่า ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ สนใจจะลงทุนผลิตยางรถยนต์ในไทย เพราะเป็นฐานการลงทุนเพื่อเชื่อมต่อไปยังอาเซียนอื่น เนื่องจากมองเห็นโอกาสจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ด้านนายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต รองกรรมการผู้จัดการ และเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า แนวโน้มราคายางพาราในปีนี้น่าจะมีทิศทางดีขึ้น ภายหลังจากการประชุมบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ มีมติให้ผู้ส่งออกยางพาราคือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ลดการส่งออกลง 15% ในช่วง 6 เดือนนี้ หรือลดลง 600,000 ตัน และไทยยังได้ลดพื้นที่การปลูกยางให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงกระตุ้นการใช้ในประเทศให้มากขึ้น

"การผลิตของไทยในปีนี้น่าจะลดลงได้ 5% จากปีที่ผ่านมา หรือลดลง 250,000 ตัน จากผลผลิตรวม 4.5 ล้านตัน รวมทั้งยังมีแผนโค่นต้นยางทิ้งอีก 200,000-300,000 ไร่ต่อปี จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 19-20 ล้านไร่" นายบัณฑิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ