(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ.อยู่ที่ 74.7 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 3, 2016 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ระดับ 74.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 63.5

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 69.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.7

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือ สภาพัฒน์ ปรับลด GDP ปี 59 เหลือ 2.8-3.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3-4%, ภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของจีน, ยอดส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.59 ติดลบ 8.9%, ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ และเงินบาทแข็งค่า

ขณะที่มีปัจจัยบวกจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%, สภาพัฒน์ ประกาศ GDP ไตรมาส 4/58 ขยายตัว 2.8% ส่งผลให้ GDP ปี 58 ขยายตัวที่ 2.8% และ ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ดัชนียังถือว่าสูงกว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 58 ซึ่งสัญญาณที่ดัชนีปรับตัวลดลงนี้เป็นเพียงสัญญาณชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ ปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ยังไม่มีท่าทีจะลดน้อยลง โดยในส่วนของปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก คือ เศรษฐกิจโลกยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลายขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ตลอดจนหุ้นของบริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ อันจะมีผลกระทบตามมาถึงกำลังซื้อที่ลดลง และเมื่อราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำก็จะมีผลไปถึงสินค้าอื่นๆ ที่ผูกพันกับราคาน้ำมันด้วย เช่น ยางพารา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากยางพารา ที่จะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อไป ประกอบกับการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ในขณะที่จีนใช้มาตรการลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย แต่เศรษฐกิจของจีนก็ยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น จึงเป็นภาพที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงนั้นอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกซึมตัวตาม

สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากภายในที่สำคัญ คือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขสถานการณ์และออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรออกมาเป็นระยะ ทั้งนี้เห็นว่าสถานการณ์ภัยแล้งมีส่วนในการฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ลดลง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 จึงทำให้เห็นว่ากำลังซื้อจากประชาชนยังไม่เด่นนัก

"เราเห็นว่าภัยแล้ง ซึ่งเป็นความเสี่ยง และอาจจะเป็นความเสี่ยงที่เด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับภัยแล้ง ทั้งจัดหาแหล่งน้ำ เยียวยาเงินสนับสนุน เราประเมินเบื้องต้นว่าผลกระทบจากภัยแล้งจะทำให้เงินหายไปจากระบบราว 7 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท ดังนั้นการที่รัฐบาลมีวงเงินไว้ราว 8.7 หมื่นล้านสำหรับการดูแลภัยแล้ง ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ต้องทำอย่างรวดเร็วให้เกิดผลเป็นรูปธรรม" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลจะต้องเร่งให้เม็ดเงินดังกล่าวลงสู่ระบบในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. เพราะในช่วงไตรมาสที่ 2 นั้นหากทุกอย่างพลิกฟื้น จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเงยหัวขึ้นได้ เพราะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกนี้ยังมีโอกาสชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/58 โดยคาดว่าจะยังอยู่ใกล้เคียง 2.8% หรือต่ำกว่าเล็กน้อย ดังนั้นถ้าเม็ดเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ระบบได้ทันในช่วงไตรมาส 2 ทั้งการลงทุนภาครัฐ มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่างๆ ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3-3.5%

"กรอบที่เรายังมองตอนนี้คือ 3.0-3.5% แต่มองว่ามีโอกาสจะใกล้เคียงกับ 3% ตอนนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีสัญญาณปรับตัวลง โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่ยังซึมตัว เราคาดหวังว่าถ้ารัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่นน่าจะเริ่มฟื้นได้ในช่วงเดือน เม.ย.หรือ พ.ค. และการจับจ่ายใช้สอยน่าจะดีขึ้นช่วงปลายไตรมาส 2" นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ