(เพิ่มเติม) กนอ.ลุยสร้าง Rubber City มูลค่าราว 1.45 พันลบ.คาดแล้วเสร็จ มี.ค. 61

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 10, 2016 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามในสัญญาก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมยางพารา Rubber city กับบริษัทบุญชัยพาณิชย์ (1979) บริษัทลูกของบริษัท ซีวิล เอ็นจิเนียริง จำกัด มูลค่าการจ้าง 1,449.80 ล้านบาท บนพื้นที่ 755 ไร่ คาดใช้เวลาก่อสร้าง 720 วัน วางระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดในมี.ค.61 รองรับนักลงทุนไทยและต่างชาติ

ทั้งนี้ กนอ.ตั้งเป้าหมายโรงงานที่จะเข้ามาลงทุนภายในนิคมฯยางพารา ทั้งสิ้น 70 โรงงาน ภายในปี 64 มูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวถึงแผนการพัฒนานิคมฯยางพาราว่า คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเริ่มเข้ามาก่อสร้างโรงงานได้ในเดือน ก.ย.59 และจะเริ่มประกอบกิจการภายในเดือน ก.ค.60 โดยเฟสแรกน่าจะสามารถเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าใช้พื้นที่ประมาณ 20-30 ราย หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ซึ่งภายในเดือน มี.ค.จะเริ่มก่อสร้างงานระบบสาธารณูปโภค แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ โซนเอ และโซนบี คาดว่าเมื่อเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการจะมีปริมาณการใช้ยางราวๆ 5 หมื่นตันต่อปี

ขณะนี้มีผู้ประกอบการแสดงความสนใจเข้าลงทุนแล้ว 17 ราย เป็นไทย 15 ราย (เป็น SME 12 ราย) ที่เหลือเป็นนักลงทุนต่างชาติ โดยนักลงทุนที่สนใจจะเข้าลงทุนในรับเบอร์ซิตี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้การส่งเสริมการลงทุน (BOI) สูงสุด 8 ปี และมาตรการลดหย่อนภาษีอีก 5 ปี ซึ่งฝ่ายการตลาดจะมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายสำหรับอุตสาหกรรมยางเป้าหมาย ฟรีค่าเช่า 3 ปี ถ้าเป็นอุตสาหกรรมยางกลางน้ำจะได้รับฟรีค่าเช่า 5 ปี แต่หากเป็นการซื้อพื้นที่จะมีส่วนลด 15-20%

"มีทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ นักลงทุนคนไทยจะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา ส่วนนักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์จากจีนที่ปัจจุบันมีการลงทุนอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทอร์นซีบอร์ด แต่อยากทำเกี่ยวกับยางคอมปาวด์ต้นทางที่นิคมฯยางรับเบอร์ซิตี้"นายวีรพงศ์ กล่าว

รายละเอียดของ Rubber City ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 2/2 และ 3 โดยจะกันพื้นที่สีเขียวไว้ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด 755 ไร่ มีอ่างเก็บน้ำอยู่ตรงกลาง ส่วนตัวโรงงานเบื้องต้น กนอ.จะลงทุนสร้างโรงงานสำเร็จรูปต้นแบบ 2 ขนาด คือ โรงงานเดี่ยวขนาด 500 ตร.ม. และขนาด 750 ตร.ม. ส่วนโรงงานแฝดจะมี 2 ขนาดเช่นกัน คือ ขนาด 1,000 ตร.ม. และ 1,500 ตร.ม.

นายวีรพงศ์ กล่าวว่า กนอ. เตรียมลงพื้นที่ จ.สงขลาเพื่อโรดโชว์เตรียมความพร้อมด้านการตลาดเพื่อดึงดูดการลงทุน โดยจะลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) และนิคมฯเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ส่งเสริมการประกอบกิจการยางแปรรูปครบวงจร และสนับสนุนการลงทุนด้านสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง กนอ.ยอมรับว่าเป็นห่วงนิคมอุตสาหกรรมบางพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ เช่น ใน จ.ลำพูน ที่ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำกวงที่ขณะนี้ปริมาณน้ำมีน้อย ไม่สามารถใช้ได้แล้ว ทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้จากบ่อเอกชนใช้น้ำรีไซเคิล และจะเชิญผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมากที่สุด 5 รายในนิคมฯมาหารือ และขอความร่วมมือในการประหยัดน้ำ รวมทั้งจะมีการเฝ้าระวังมีระบบแจ้งเตือนหากวิกฤติ

อย่างไรก็ตาม กนอ.ยังมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ได้จนกว่าจะถึงฤดูฝน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ