พาณิชย์ พบนอมินีธุรกิจอสังหาฯ-โรงแรมฯ-อพาร์ทเมนท์ในพื้นที่ ศก.พิเศษสะเดา อยู่ระหว่างขยายผล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 11, 2016 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมฯ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา ได้ประสานเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 5 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบ 5 บริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งทั้ง 5 บริษัทมีผู้ถือครองรายเดียวกันหมด และประกอบธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมรีสอร์ท อพาร์ทเมนท์ และธุรกิจบริการอื่น ซึ่งถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีการถือครองที่ดิน และมีมูลค่าการลงทุนสูง ที่สำคัญมีชาวต่างชาติถือหุ้นร่วมกับคนไทย ทำให้ต้องสงสัยว่าอาจจะมีคนไทยแอบแฝงถือหุ้นแทน (นอมินี) คนต่างชาติ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบพฤติกรรมของผู้ถือหุ้นคนไทยมีมูลเหตุให้เชื่อว่าน่าจะเป็นการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กรมฯ จึงมอบหมายให้ผู้อำนวยการกลุ่มบริการทะเบียนธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวน สภ.สะเดา ดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้ตรวจสอบการจัดทำบัญชีของบริษัททั้ง 5 รายพบว่ามีข้อบกพร่องในการจัดทำบัญชี ขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทชี้แจง หากพบว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 จริง จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับแผนการตรวจสอบธุรกิจที่มีนอมินีของกรมฯนั้น นอกจากจะเข้าตรวจสอบธุรกิจเสี่ยงในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยแล้ว จะขยายการตรวจสอบคลอบคลุมจังหวัดที่เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มากขึ้น เพราะการลงพื้นที่ตรวจสอบที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอสะเดา ทำให้ทราบข้อมูลสำคัญของช่องทางการกระทำผิดในธุรกิจที่มีนอมินี โดยปัจจุบันธุรกิจของชาวต่างชาติที่ต้องการจะใช้คนไทยเป็นนอมินีได้ขยายการลงทุนไปสู่จังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือชายแดนไทยที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จากเดิมจะเน้นที่การประกอบธุรกิจในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

"อยากเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยง หรือฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องได้รับโทษหนักคือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาทจนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน" น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ