พาณิชย์จังหวัด แจงผลงานการบริหารจัดการสินค้าเกษตร-การขยายตลาดในรอบสัปดาห์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 24, 2016 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาติ สร้อยทอง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ระหว่างวันที่ 17-23 มีนาคม 2559 ดังนี้ 1. การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเชิงรุก กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรและวางแผนบริหารจัดการก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านราคา ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการวางแผนบริหารจัดการตลาดรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงฤดูกาลตามปฏิทินสินค้าเกษตร ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ มีผลผลิตเกษตรที่สำคัญออกสู่ตลาด ได้แก่ สินค้าพืชหัว กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่

สถานการณ์การผลิตและการตลาด ฤดูการผลิตปี 2558/59

กระเทียม : ปริมาณผลผลิต 73,638 ตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แหล่งเพาะปลูกสำคัญ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ และศรีสะเกษ โดยผลผลิตกระเทียมภาคเหนือจะเก็บเกี่ยวมากช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ส่วนผลผลิตของจังหวัดศรีสะเกษออกสู่ตลาดแล้วกว่าร้อยละ 96 ราคาอยู่ในเกณฑ์สูง ไม่มีปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากมีคุณภาพดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ กระเทียมสด (คละ) กก.ละ 10-20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ

หอมแดง : ปริมาณผลผลิต 99,562 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 23.26 เนื่องจาก 2 ปี ที่ผ่านมีปัญหาเรื่องการส่งออก เกษตรกรจึงหันไปปลูกพืชอื่นทดแทนแหล่งเพาะปลูก ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และอุตรดิตถ์ ขณะนี้ผลผลิตจังหวัดเชียงใหม่ออกสู่ตลาดหมดแล้ว จังหวัดศรีสะเกษออกสู่ตลาดแล้วร้อยละ 98 และในส่วนของจังหวัดภาคเหนืออื่นๆ ออกสู่ตลาดแล้วร้อยละ 50-85 โดยในปีนี้คุณภาพหอมแดงด้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งบ้างแต่ไม่รุนแรง สำหรับภาวการณ์ค้าอยู่ในภาวะปกติ โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ หอมแดงสด (คละ) กก.ละ 8-17 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ

หอมหัวใหญ่ : ปริมาณผลผลิต 44,598 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 25.75 แหล่งเพาะปลูก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ และกาญจนบุรี โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ขณะนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 80 ผลผลิตส่วนใหญ่มีคุณภาพดี ตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง โดยจังหวัดเชียงใหม่มีผลผลิตประมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งประเทศ ขณะนี้ผลผลิตในพื้นที่อำเภอแม่วาง และสันป่าตอง เก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว คงเหลือพื้นที่ในอำเภอฝาง และอำเภอพร้าว ผลผลิตส่วนใหญ่ที่ออกสู่ตลาดเป็นเบอร์ 0, 1 โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ หอมหัวใหญ่เบอร์ 1 เฉลี่ยทั้งประเทศ กก.ละ 15.50 บาท หอมหัวใหญ่ เบอร์ 0-1 จ.เชียงใหม่ กก.ละ 18 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ : รับแนวทางและนโยบายไปปฏิบัติในการวางแผนบริหารจัดการล่วงหน้าให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในพื้นที่ ได้ดำเนินการแนวทาง/มาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการกระเทียม ปีการผลิต 2558/59 โดยการจัดหาตลาด การเจรจาซื้อขายกระเทียมระหว่างผู้รับซื้อกับผู้ผลิต ดังนี้

1. นำเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่พบปะเจรจาทำสัญญาข้อตกลงกับบริษัทบริษัท เอสแอนด์เจโปรดักท์ จำกัด จำหน่ายกระเทียมเข้าโรงดอง จำนวน 400 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 25 บาท เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ณ วันที่ 16 มีนาคม 2559 เกษตรกรส่งผลผลิตเข้าโรงงานแล้ว จำนวน 200 กิโลกรัม ขณะนี้ได้รับแจ้งจากกรมการค้าภายในให้เปิดบัญชีเพื่อใช้รับชำระเงิน

2. นำตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนรวม 20 ราย เดินทางมาเจรจาเพื่อจำหน่ายผลผลิตกระเทียมแห้งคละและกระเทียมแกะกลีบ กับโรงงานน้ำพริกแม่ศรี อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ผลการเจรจาซื้อขายสินค้ากระเทียม ดังนี้

1) โรงงานน้ำพริกแม่ศรี จังหวัดนครปฐม ตกลงรับซื้อผลผลิตกระเทียมแกะกลีบเบอร์ 1 จากกลุ่มเกษตรกรในเบื้องต้น จำนวน 3 ตันต่อสัปดาห์ เริ่มส่งมอบครั้งแรกช่วงหลังสงกรานต์ ประมาณ 12 ตัน/เดือน มูลค่าประมาณ 900,000 บาท/เดือน ทั้งนี้ ข้อตกลงราคาจะเป็นไปตามภาวะตลาด

2) ผู้ประกอบการค้าส่งกระเทียม ณ ตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี มีการจับคู่ทำสัญญารับซื้อผลผลิตกระเทียมแกะกลีบจากเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 คู่ จำนวน 45 ตัน/เดือน มูลค่าประมาณ 3,375,000บาท/เดือน

รวมปริมาณการสั่งซื้อกระเทียม ทั้งสิ้น จำนวน 57 ตัน/เดือน มูลค่ารวม 4,275,000บาท/เดือน เป็นการประมาณการจากราคาตลาดกระเทียมแกะกลีบ ณ วันที่ 20 มีนาคม 2559 กก.ละ 75 บาท

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์ : นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยผลักดันการเพิ่มมูลค่ากระเทียมของจังหวัดโดยรณรงค์และประชาสัมพันธ์คุณค่าของกระเทียมน้ำปาด ซึ่งเป็นกระเทียมพันธ์ไทยแท้ มีค่าสารอินทรีย์กำมะถันในเนื้อสูงกว่ากระเทียมอื่น ซึ่งทำให้กลิ่นหอมฉุน รสชาติดี สามารถเก็บไว้ได้นานเกิน 6 เดือน เป็นกระเทียมที่มีคุณภาพ ซึ่งสำนักงานฯ เตรียมจะยื่นขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ต่อไป และได้จัดกิจกรรมในงานเทศกาลพญาปาด หอม-กระเทียมของดีน้ำปาด ระหว่างวันที่ 17 – 19 มีนาคม 2559 เพื่อประชาสัมพันธ์กระเทียมน้ำปาด มีการประกวดผลผลิตกระเทียมและอาหารที่ปรุงจากกระเทียม

2. การแก้ไขปัญหาการค้าสินค้าเกษตร

กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดมีบทบาทในการกำกับดูแล แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาค โดยได้ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ดังนี้

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก : แก้ไขปัญหาการรับซื้อผลผลิตถั่วลิสง อำเภอพรหมพิราม โดยร่วมหารือกับ หจก.ซินกวงน่าน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงงานรับซื้อถั่วลิสง เพื่อแปรรูปจำหน่ายในประเทศและส่งออก ได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหา โดยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาขั้นต่ำ ณ แหล่งผลิต กก.ละ 15 บาท ซึ่งมีเกษตรกรทั้งในส่วนที่ทำ contract farming กับบริษัทฯ และเกษตรกรที่ปลูกพืชใช้น้ำน้อยตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2558/59 จำนวนกว่า 300 ราย มีผลผลิตอยู่ในมือขณะนี้ 180 – 200 ตัน และที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 นี้ ราว 350 ตัน โดยในระยะยาวให้มีการรวมกลุ่มจำหน่ายผลผลิตถั่วลิสงผ่านสหกรณ์การเกษตรอำเภอพรหมพิราม เพื่อจะสามารถต่อรองเจรจาทางการค้าได้ดีขึ้น โดย หจก. ซินกวงน่าน จะรับซื้อในราคาขั้นต่ำ กก.ละ 15 บาท ณ แหล่งผลิตผ่านการรบรวมของสหกรณ์

3. การเชื่อมโยงตลาด/การขยายตลาด

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้จัดกิจกรรมในการส่งเสริมตลาดสินค้า/ผลิตภัณฑ์ของจังหวัด เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ มีช่องทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้า เพิ่มรายได้ และเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยผลการดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2559 จัดการเชื่อมโยงตลาด รวม 5 ครั้ง มูลค่าการค้ารวม 2,400 ล้านบาท และจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า รวม 24 ครั้ง มูลค่าการจำหน่าย รวม 95.14 ล้านบาท โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการ ดังนี้

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดราชบุรี : จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP & SMEs “ของดีเมืองโอ่ง" จังหวัดราชบุรี ระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2559 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี นำสินค้าเด่นของจังหวัด ได้แก่ ไชโป้วหวาน กุนเชียงหมู ฮ้อยจ้อปู ข้าวทอดกระทงทอง ข้าวไร้ซ์เบอร์รี่ ผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่ง มาจัดแสดงและจำหน่าย รวม 47 คูหา

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำปาง : จัดงานมหกรรมสินค้า OTOP ของดีลำปาง ครั้งที่ 1 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าเวสต์เกต บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ระหว่างวันที่ 21 – 26 มีนาคม 2559 โดยนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ของจังหวัด จากผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาทักษะการตลาด จำนวน 50 ราย มาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ได้แก่ สินค้า OTOP SMEs สินค้าอินทรีย์ (Organic) สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของลำปาง ได้แก่ ข้าวแต๋นลำปาง ชามไก่ลำปาง เซรามิก งานไม้ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี : จัดงาน “The Best Of Udonthani" ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การค้า เอ็นมาร์ค พลาซา เขตบางกระปิ กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 19 – 23 มีนาคม 2559 นำผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้ผลิตสินค้า Otop SMEs วิสาหกิจชุมชน Biz Club Udon thani เช่น ผ้าย้อมคราม ผักปลอดภัยจากบ้านทุงฝน มะม่วงจากหนองวัวซอ ไหบ้านเชียง กลุ่มผ้าบ้านนาข่า น้ำเสารส ลาบเป็ดคุณดั๊ก สมุนไพร เป็นต้น มาแสดงและจำหน่ายในงาน

4. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง

กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนผู้ประสบปัญหาวิกฤตแล้ง ดังนี้

การจำหน่ายสินค้าธงฟ้าช่วยภัยแล้ง มีแผนดำเนินการใน 22 จังหวัด รวม 400 ครั้ง ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2558 – เมษายน 2559 ในจังหวัดกำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก นครปฐม นครนายก นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย อ่างทอง อุตรดิตถ์ และกรุงเทพ (ดำเนินการโดยกรมการค้าภายใน) จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2559 ดำเนินการไปแล้ว 317 ครั้ง มียอดจำหน่ายสินค้ารวม 36.53 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดค่าครองชีพให้ประชาชนจำนวน 148,473 คน มูลค่า 24.35 ล้านบาท

การเชื่อมโยงตลาดและจัดหาตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตร/ผลิตภัณฑ์ชุมชนของเกษตรกร โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ภัยแล้ง ดำเนินการเชื่อมโยงตลาด ประสานผู้ประกอบการทำความตกลงรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร รองรับผลผลิตพืชภัยแล้งเป้าหมายในการส่งเสริมของจังหวัด ได้แก่ ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วลิสง พริกใหญ่ พริก ข้าวโพด พืชผัก รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า โดยการดำเนินการจนถึงปัจจุบัน วันที่ 22 มีนาคม 2559 ได้ประสานการรับซื้อสินค้าเกษตรเป้าหมายดังกล่าว รวมมูลค่า 60.15 ล้านบาท

การอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร : สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 76 จังหวัด ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 จัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรใน 76 จังหวัด 882 ศูนย์ๆละ 5 รุ่น รวม 4,410 ครั้ง เป้าหมายเกษตรกร 220,500 ราย ขณะนี้ดำเนินการไปกว่า 4,000 ครั้ง มีเกษตรกรเข้ารับการอบรมแล้ว 202,984 ราย คิดเป็นร้อยละ 92


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ