(เพิ่มเติม1) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เล็งลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ลงจาก 3% ส่งออกจาก 0% รับปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 7, 2016 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เตรียมทบทวนคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 59 ในเดือน มิ.ย.นี้ โดย GDP มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 3% และมูลค่าการส่งออกจากเดิม 0% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากที่เคยประมาณการไว้ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และปัญหาภัยแล้ง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในเดือน มิ.ย.59 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตรียมปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ 3% จากปัจจัยเรื่องของปัญหาภัยแล้งที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักของประเทศลดลง และส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศมีโอกาสหดตัวลง

อีกทั้งการส่งออกของไทยในปีมีมีโอกาสติดลบ จากประมาณการณ์เดิมที่มองว่าการส่งออกจะไม่ขยายตัว หรือเท่ากับ 0% ซึ่งปรับลดลงมาจากก่อนหน้านี้ที่ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวได้ 2% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำส่งผลต่อการส่งออกของไทยที่มีโอกาสหดตัวด้วย ซึ่งมีโอกาสกระทบกับภาคการส่งออกต่อเนื่องไปยังครึ่งปีหลัง

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยในปี 59 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นเป็นเฉลี่ย 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากคาดการณ์เดิมที่เฉลี่ย 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เพียงครั้งเดียว จากเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้น 3-4 ครั้ง และยังคาดว่าจะเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปออกไปเป็นในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.59 จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนมิ.ย.59 ซึ่งทำให้ในช่วง 4-5 เดือนข้างหน้านับจากนี้จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศ และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ด้านมาตรการของรัฐบาลที่จะมีเงินเข้ามาในระบบประมาณ 6-8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อ GDP เพิ่มขึ้นอีก 0.4-0.6% ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของปีงบประมาณ 59 จำนวน 5.62 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในปีนี้ได้ 70% หรือประมาณ 3.93 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บ้านประชารัฐ 7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะส่งผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจเฉพาะในส่วนพรีไฟแนนซ์ 3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะเข้าระบบในปีนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ส่วนมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ การเติมเงินกองทุนหมู่บ้านรอบใหม่ และ โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย จะมีผลต่อ GDP ไม่มาก เนื่องจากเป็นการจัดสรรจากงบประมาณเดิม และ เป็นการกระจายเงินไปยังส่วนต่างๆ

ศูนย์วิจันยกสิกรไทย ยังมองว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นจะต้องจับตาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ หลังจากธนาคารพาณิชย์มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆด้านมากกว่าการส่งสัญญาณของธนาคารพาณิชย์

"เศรษฐกิจไตรมาสแรกยังชะลอตัวและต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว GDP จะอยู่ที่ 2.8% หลังรายได้เกษตรกรถูกกระทบจากภัยแล้งและภาวะสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ขณะที่การส่งออกยังหดตัว โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของรัฐบาล และการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ประกอบกับ การเบิกจ่ายงบกลางปีของรัฐบาลด้วย ซึ่งถ้าหากมีความชัดเจนจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในครึ่งปีหลัง"นายเชาว์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ