(เพิ่มเติม1) ส.อ.ท.เผยยอดส่งออกรถยนต์ มี.ค.59 ลดลง 14.33% มาที่ 109,334 คัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 20, 2016 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน มี.ค.59 ส่งออกได้ 109,334 คัน ลดลง 14.33% จากเดือน มี.ค.58 โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 57,335.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.39% ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกรถยนต์มากกว่าปีที่แล้ว เพราะการส่งออกรถ PPV เพิ่มขึ้นในแทบทุกตลาด ซึ่งมีราคาสูงกว่ารถอีโคคาร์ โดยผลิตรถ PPV เพื่อส่งออกมากขึ้นจากปีที่แล้วถึง 153%

สำหรับ ส่งออกรถยนต์ในเดือนม.ค.-มี.ค.นี้ มียอดส่งออก 307,760 คัน ลดลง 6.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 163,553.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมี.ค.59 มีทั้งสิ้น 192,811 คัน สูงสุดในรอบ 30 เดือน เพิ่มขึ้น 8.19% จากเดือนมี.ค.58 เนื่องจากมีการผลิตรถยนต์นั่ง และรถกระบะขนาด 1 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 109,333 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 83,478 คัน ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.-มี.ค.59 มีจำนวนทั้งสิ้น 506,874 คัน

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมี.ค.59 มีจำนวนทั้งสิ้น 72,404 คัน ลดลง 2.3% จากเดือนมี.ค.58 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวตาม อีกทั้งสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อและกำลังซื้อที่ยังไม่ขยายตัว แต่เพิ่มขึ้น 26.8% จากเดือนก.พ.59 เพราะมียอดจองรถยนต์ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 37 มากกว่า 30,000 คัน ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค.59 รถยนต์มียอดขาย 181,318 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.3%

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การที่ยอดผลิตรถยนต์ในเดือน มี.ค.เพิ่มสูงขึ้น แต่มียอดขายลดลงนั้น เนื่องจากเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยในช่วงวันหยุดเดือน เม.ย. ซึ่งในเดือน พ.ย.ก็จะเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้งเพื่อชดเชยวันหยุดในเดือน ธ.ค.

ส่วนกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ทั้งในเรื่องการผลิตและการส่งออก เนื่องจากเป็นเพียงสถานการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น

"ไม่มีผลกระทบต่อการผลิตในประเทศไทย เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน แม้โรงงานรถยนต์ที่ญี่ปุ่นจะหยุดการผลิต คงเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ" นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว หลังผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรกเริ่มเบาบางลง และผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์มีไม่มากนัก ขณะที่ตลาดส่งออกและตลาดในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

"ยอดขายรถยนต์บรรทุกขนาด 5-10 ตันที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น คงไม่มีใครซื้อรถประเภทนี้มาจอดทิ้งไว้เฉยๆ" นายเจน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ