กกพ. เดินหน้าจับสลากผู้ผ่านคุณสมบัติรอบแรก"โซลาร์ฟาร์ม" 21 เม.ย.นี้ ประกาศผล 26 เม.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 20, 2016 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หลังประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 167 รายว่า กกพ.จะคัดกรองผู้ยื่นคำขอที่ผ่านคุณสมบัติด้วยวิธีจับสลาก สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากสหกรณ์ภาคการเกษตร ตามเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าในเฟสแรก จำนวน 300 เมกะวัตต์ ในวันพฤหัสบดีที่ 21 เม.ย.นี้ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูมบีและซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

โดยผู้ที่ผ่านคุณสมบัติต้องนำเอกสารใบรับคำขอที่ได้รับในวันสมัคร ไปแสดงตนเพื่อลงทะเบียนในเวลา 08.00 – 09.30 น. ก่อนทำการจับสลากตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และสำนักงาน กกพ.จะประกาศผลการคัดเลือกในเบื้องต้นหลังจาก จับสลากทุกโครงการแล้วเสร็จ และประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เมษายน 2559 ทั้งนี้ เจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559

อนึ่ง ผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าที่ผ่านคุณสมบัติ (เฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร) เพื่อเข้าสู่การคัดเลือกโดยการจับสลาก รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 167 ราย และไม่ผ่านคุณสมบัติ จำนวน 67 โครงการ จากที่สหกรณ์ภาคการเกษตรได้ยื่นคำขอขายไฟฟ้ามา จำนวน 234 โครงการ และคิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวมเป็นจำนวน 798.62 เมกะวัตต์ และเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ในเฟสแรกจำนวน 300 เมกะวัตต์ ยังคงสูงกว่าเป้าหมายอยู่

สำหรับจำนวนสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ 67 รายนั้น จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ได้ยื่นมา พบว่ามีหลายสาเหตุที่ไม่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ.กำหนดไว้ อาทิ ไม่ผ่านมาตรฐานสหกรณ์ ที่ตั้งโครงการไม่ได้อยู่ในแดนดำเนินการของสหกรณ์ หรือหนังสือแจ้ง Feeder ระบุชื่อผู้ขอตรวจสอบไม่ตรงตามคำขอ เป็นต้น

ขณะที่จำนวนหน่วยงานราชการทั้งหมดที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ 370 ราย สาเหตุสำคัญที่ไม่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือก เนื่องจากไม่พบเอกสารหลักฐานว่าได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 พ.ย.58 ตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ.ได้กำหนดไว้

นอกจากนี้ กรณีประเด็นคุณสมบัติของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แม้จะไม่ใช่ส่วนราชการ แต่ยังถือได้เป็นหน่วยงานของรัฐ จึงต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ รวมถึงกรณีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ ได้ใช้ที่ดินของวัดร้าง ศาสนสมบัติกลาง หรือที่ดินที่บริจาค เพื่อดำเนินโครงการนั้น ก็ยังคงต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ตลอดจนหลักเกณฑ์ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ ที่กำหนดให้ ต้องใช้ที่ดินจากหน่วยงานราชการหรือที่ราชพัสดุที่ได้ครอบครองหรือมีกรรมสิทธ์แล้วเท่านั้น กรณีหากใช้ที่ดินของวัดร้าง ตามกฎหมายก็ถือว่าเป็นเพียงการปกครอง ดูแลรักษา ยังไม่ถือเป็นการครอบครองในฐานะมีกรรมสิทธ์ในที่ดิน ซึ่งถ้าโครงการดังกล่าวไม่ได้ร่วมทุนกับเอกชนและไม่ได้ผ่านกระบวนการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ก็ถือว่าไม่ผ่านหลักเกณฑ์ หรือเช่นเดียวกับกรณีใช้ที่ดิน ศาสนสมบัติกลางหรือที่ดินที่บริจาคที่สำนักงานพระพุทธฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ในที่ดิน ก็ถือว่าเป็นโครงการของหน่วยงานราชการ ซึ่งต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ หากไม่ได้ดำเนินการก็ถือว่าไม่ผ่านหลักเกณฑ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ