(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.ระบุยังไม่จำเป็นปรับนโยบายการเงินผ่อนคลาย เหตุเงินเฟ้อเป็นไปตามคาดการณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2016 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ยังเป็นไปตามที่ ธปท.ได้ประเมินไว้ว่าจะพลิกเป็นบวกในไตรมาส 2 และอัตราเงินเฟ้อในปีนี้อาจแตะกรอบล่างของคาดการณ์

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.59 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในวันนี้ที่ระดับ 0.46% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันหลังจากติดลบไปนานนั้น นายวิรไท กล่าวว่า ไม่ถือว่าอัตราเงินเฟ้อขยายตัวเร็วเกินไป เพราะเป็นไปตามคาดการณ์ของ ธปท.อยู่แล้ว

โดยธปท.มองว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 2 และคาดว่าจะกลับมาอยู่ที่ 1% ในปลายปีนี้ เพราะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยยืนยันว่ากรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นที่ ธปท.ดำเนินการ มีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย และแม้ว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป้นบวก แต่การคาดการณ์ล่วงหน้า ธปท.จึงยังจำเป็นที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 จะฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยว โดยธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 3.1% ขณะที่การส่งออกยังไม่เข้มแข็งนัก เป็นผลมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและอาเซียน ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมชะลอการตัดสินใจลงทุน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2559 จะกระตุ้นให้เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้นอีก หลังจากที่สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ปรับเพิ่มอันดับขีดความสามารถของไทยดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 28 จากเดิมอยู่ที่ 30 ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่อันดับปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ จนทำให้เศรษฐกิจมีศักยภาพ

นายวิรไท กล่าวว่า แม้ความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงนี้จะลดลงจากช่วงต้นปี 59 แต่ในระยะข้างหน้า ความผันผวนยังคงมีอยู่จากปัจจัยต่างประเทศ คือ การชะลอตัวและการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน การลงประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ การดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจใหญ่ ดังนั้นค่าเงินบาทและราคาสินทรัพย์สามารถเคลื่อนไหวทั้งขึ้นและลง การคาดการณ์ทิศทางค่าเงินบาททางใดทางหนึ่งอาจเสียหายได้

"ธปท.ย้ำว่าจะดูแลค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาด หากผันผวนรุนแรงจนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธปท.จะพิจารณาใช้เครื่องมือดูแลอย่างเหมาะสม" นายวิรไท กล่าว

พร้อมกันนี้ มั่นใจว่าฐานะด้านต่างประเทศของไทยแข็งแกร่งเป็นกันชนรองรับความผันผวนจากต่างประเทศได้ดี โดยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 9% ของจีดีพี เงินสำรองระหว่างประเทศถึง 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ขณะที่พันธบัตรที่ต่างประเทศถือครอง คิดเป็นสัดส่วน 9% ซึ่งถือว่าต่ำหากเทียบกับต่างประเทศที่มีสัดส่วนต่างชาติถือครองพันธบัตรถึง 30% อย่างไรก็ตาม เอกชนต้องป้องกันความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ