คลังเล็งออกมาตรการปานกลาง-ระยะยาวหวังดึง GDP โตก้าวกระโดด หลังกระตุ้นระยะสั้นได้ผลแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2016 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Moving Thailand Forward for Sustainable Growth" ในงานสัมมนา "Half Year Economic Outlook"ว่า กระทรวงการคลังได้วางเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยโตแบบยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่ ทั้งมาตรการภาษี งบประมาณ การบริหารหนี้สาธารณะ รัฐวิสาหกิจ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยยืนยันว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลแบบมีคุณภาพ ช่วยเหลือรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่อไป

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการระยะสั้นหลายโครงการ เช่น การอัดฉีดงบประมาณตำบลละ 5 ล้านบาท, การปล่อยสินเชื่อผ่อนปรน ซึ่งถือว่าประสบผล เพราะเห็นได้จากการประกาศตัวเลข GDP ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก เติบโตได้ 3.2% ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ แต่ก็ยังเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่ต้องเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีการใช้นวัตกรรมมากขึ้น

"เศรษฐกิจไตรมาสแรกที่เติบโต 3.2% นี่คือความพยายามทั้งหมดของรัฐบาลและกระทรวงการคลังในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จากนี้ก็ต้องปล่อยให้การบริโภคภาคเอกชนทำหน้าที่ การลงทุนภาคเอกชนทำหน้าที่ต่อไป ส่วนภาครัฐก็ถือว่าได้เวลาที่เราอยากทำมานานในการออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

พร้อมระบุว่า การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น กระทรวงการคลังได้กำหนดเป้าหมายในปี 2575 ประชาชนจะต้องมีรายได้ 40,000 บาท/คน/เดือน โดยผู้มีรายได้น้อยที่มีสัดส่วน 10% ของผู้มีรายได้ทั้งหมด จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท/คน/เดือน ลดการคอรัปชั่นในประเทศให้ติดอยู่ในกลุ่ม 20 ประเทศที่ไม่มีปัญหาทุจริต การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอยู่ใน 15 อันดับแรก พร้อมกับปฏิรูปการการศึกษาทุกระดับให้ประชาชนมีความรู้ด้านการเงินและเทคโนโลยีอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก

ขณะเดียวกัน ยังจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษี โดยที่ผ่านมามีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล แต่มีปัญหาฐานภาษีไม่ขยายตามที่คลังคาดไว้ ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยังไม่สามารถปรับขึ้นได้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีขณะนี้ อีกทั้งในอนาคตต้องพิจารณาโครงสร้างภาษีให้มีความเหมาะสม เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องเกิดขึ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ มีการออกกฎหมายการออมภาคบังคับเพื่อลดภาระงบประมาณดูแลผู้สูงอายุในอนาคตกว่า 6-7 แสนล้านบาท ขณะที่การดำเนินโครงการ E-Payment จะทำให้การจัดเก็บรายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็คทรอนิกส์ ลดการใช้เงินสด

"มีแนวคิดส่วนตัว ซึ่งอาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ให้ผู้ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรในระบบ E-Payment จัดเก็บภาษี VAT ที่ 7% ส่วนใครใช้เงินสดก็เก็บภาษี VAT 10% เพื่อให้คนหันมาใช้ผ่านบัตรมากขึ้น" นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ