รมว.คมนาคม เผยญี่ปุ่นเสนอไทยทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองและโครงข่ายคมนาคม รองรับไฮสปีดเทรนก่อนสรุปผลศึกษาปลายปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 2, 2016 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นเรื่องการพัฒนารถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม.ว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะทำงานญี่ปุ่นได้นำเสนอผลการศึกษาขั้นกลาง เช่น ประมาณการณ์ผู้โดยสาร ซึ่งมีตัวเลขที่ 4.5 หมื่นคนต่อวัน โดยญี่ปุ่นเห็นว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์สูงไปหรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราประชาชนลดลง และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ฝ่ายไทยเห็นว่า อนาคตหากการเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น จะมีการโยกย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะที่ บริษัทหรืออุตสาหกรรมต่างๆ จะไปตั้งที่หัวเมืองจังหวัดที่เจริญมากขึ้น ดังนั้นไม่น่าจะมีผลต่อการปรับลดประมาณการณ์จำนวนผู้โดยสาร และประมาณการณ์ค่าก่อสร้างและการแบ่งเฟสการก่อสร้างที่เหมาะสมจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นในเดือนมิ.ย.นี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งตามแผนเดิมแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส คือ กรุงเทพ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ ได้หารือแล้วว่า อาจจะพิจารณาทยอยลงทุนช่วงแรกสั้นลงอีก เช่น กรุงเทพ-นครสวรรค์ เป็นต้น เนื่องจาก นครสวรรค์ เป็นหัวเมืองสำคัญและเป็นจุดตัดของเส้นทาง ตะวันออก-ตะวันตก ขณะที่หากจะเดินทางต่อไปถึงพิษณุโลก ยังสามารถใช้เส้นทางท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วเชื่อมไปได้ สามารถเพิ่มการเดินทางระหว่างภูมิภาคได้ ซึ่งทางญี่ปุ่นเสนอให้ไทยทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองที่รถไฟวิ่งผ่านและโครงข่ายคมนาคม

ทั้งนี้ ในเชิงเศรษฐกิจถือว่าคุ้มค่า แต่อาจมีผลตอบแทนการลงทุน (FIRR) ไม่ถึง 12% ส่วนผลตอบแทนการเงินนั้นเนื่องจากมูลค่าลงทุนสูง รัฐอาจจะต้องลงทุนบางส่วนและเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนบางส่วน พร้อมทั้งพิจารณาเรื่องการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางร่วมด้วยเพื่อประโยชน์สูงสุด โดยสรุปผลศึกษาขั้นสุดท้ายปลายปี 2559

สำหรับความร่วมมือพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกด้านใต้ กาญจนบุรี-กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศและกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กม.นั้น มีการปรับปรุงเสริมความแข็งแรงของเส้นทางเดิมที่เป็นทางเดี่ยว โดยอยู่ระหว่างทำแผนแก้ปัญหา 472 จุด

นายอาคม กล่าวว่า ในวันนี้ ได้มีพิธีเปิดสำนักงานส่งเสริมเพื่อเตรียมการสำรวจและพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ข้อตกลงในบันทึกความร่วมมือ (MOC) ระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรางลดการขนส่งด้วยรถบรรทุกที่มีต้นทุนสูงและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก 12 ฟุต เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 59 จากสถานีหนองปลาดุก-บางซื่อ ต่อมาวันที่ 8-12 ก.พ. ได้ทดลองในเส้นทาง บางซื่อ-กุดจิก(จ.นครราชสีมา) –ท่าพระ (จ.ขอนแก่น) –กุดจิก-บางซื่อ ระยะทาง 433 กม. และวันที่ 15-19 ก.พ. ทดลองในเส้นทางบางซื่อ-ลำพูน-บางซื่อ ระยะทาง 722 กม.พบว่าการเดินรถในเส้นทางภาคเหนือตรงต่อเวลาและมีสินค้าเสียหายน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงทางและเป็นทางคู่มากกว่าเส้นทางภาคอีสาน และพบว่าตู้ขนาด 12 ฟุตเป็นที่ต้องการของบริษัท SME เพราะมีความสะดวกมากกว่าและตู้ขนาดเล็กเหมาะกับการขนส่งในเขตเมืองที่มีความแออัด

โดยทางญี่ปุ่น ได้ตั้งสำนักงานขึ้น ณ อาคารบริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด แสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางรางร่วมกับไทย ซึ่งหลังจากนี้จะทดลองและปรับปรุงประสิทธิภาพ ศึกษาถึงจำนวนเที่ยวและปริมาณความต้องการของลูกค้า จากนั้นจะทำแผนธุรกิจ (Business Model) ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะสรุปผลศึกษาในเดือนต.ค.นี้ จากนั้นจะพิจารณาจัดตั้งบริษัทขนส่งสินค้าซึ่งอาจจะตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนหรือตั้งเป็นบริษัทลูกหรือ Business Unit : BU ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ภายในปีนี้ เพื่อทำหน้าที่ด้านการตลาดและหาลูกค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ