กกพ.คาดโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ COD ได้ตามกำหนดไม่ถึงครึ่ง หลังเกิดขัดแย้งกับผู้สนับสนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2016 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินของกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในกำหนด 30 ธ.ค.59 ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมดจำนวน 67 ราย กำลังการผลิตรวม 281.32 เมกะวัตต์ หลังเบื้องต้นพบว่ากลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรหลายแห่งมีความขัดแย้งกับกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการ รวมถึงบางแห่งมีปัญหาเรื่องที่ดินก่อสร้าง จนทำให้อาจต้องยกเลิกโครงการไปในที่สุด

สหกรณ์ภาคการเกษตรดังกล่าวจะต้องมาดำเนินการทำสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่รับซื้อ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ภายในเวลา 120 วัน นับจากวันที่รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า หากไม่มีการลงนามในสัญญาฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าเป็นอันยกเลิก ขณะที่ กกพ.ได้ประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา

"รอบแรกเราคาดว่าจะ COD ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ตอนนี้ของการไฟฟ้านครหลวง ที่ได้รับคัดเลือก 6 โครงการ มีผู้มาติดต่อหมดแล้วเอกสารที่ยื่นมามี 3 โครงการไม่เรียบร้อยก็จะกลับไปทำให้เรียบร้อย คิดว่าอันนี้ทันแน่นอน แต่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 61 โครงการ ทราบว่าที่มายื่นเอกสารเรียบร้อย 21 โครงการ คือสมบูรณ์แล้ว แต่ที่เหลือยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เราคงไม่ขยายเวลาแล้ว...ถ้ารอบนี้สหกรณ์เข้าไม่หมดตามที่ได้รับคัดเลือกก็จะนำมาบวกเพิ่มคราวหน้า"แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ มีความขัดแย้งกับกลุ่มเอกชนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการในเรื่องผลตอบแทนที่อาจยังไม่ลงตัว และบางรายมีปัญหาเรื่องที่ดินที่เดิมได้มีสัญญาจะซื้อจะขายไว้แล้ว แต่เมื่อโครงการมีความล่าช้ามา ทำให้การซื้อขายที่ดินไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้และเจ้าของที่ดินบางแห่งอาจจะยกเลิกสัญญาขายที่ดิน ขณะที่ระเบียบของการเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้ากับ กกพ.นั้น กำหนดว่าไม่สามารถเปลี่ยนสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า รวมถึงเปลี่ยนผู้สนับสนุนโครงการไม่ได้ และสหกรณ์ก็ไม่สามารถดำเนินโครงการได้เพียงลำพัง เพราะว่าไม่มีวัตถุประสงค์ในการผลิตไฟฟ้า

"ตอนนี้ก็มีข่าวเร่ขายโครงการออกมามาก โดยเฉพาะรายเล็ก ๆ เราพยายามออกมาตรการป้องกันแล้วด้วยการห้ามเปลี่ยนแปลงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งจำนวนคนที่เป็นผู้ถือหุ้น และจำนวนหุ้น บริษัทผู้สนับสนุนไม่เปลี่ยน แต่เปลี่ยนผู้ถือหุ้นได้ 49% คนก็เปลี่ยนได้ เช่น มีผู้ถือหุ้น 5 คน เปลี่ยนได้แค่ 2 คน ถือหุ้นได้แค่ 49% เราล็อคไว้ทั้งปริมาณหุ้นและปริมาณผู้ถือหุ้น...เราจะป้องกันอย่างไรก็ไม่ได้ 100% เราล็อคไว้แต่เขาก็จะไปเปลี่ยนไส้ในแทน"แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว เห็นว่าการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายควรจะต้องดำเนินการให้ได้ภายในเดือนก.ค.นี้ เพราะจะต้องมีเรื่องการขอใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งมีระยะเวลาอยู่พอสมควรเพราะยังมีประเด็นเรื่องของแผงโซลาร์เซลล์ที่จะมีเพียงพอหรือไม่สำหรับผู้ได้รับคัดเลือกทั้งหมด เบื้องต้นเห็นว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องดังกล่าวเพราะอาจจะมีการเจรจากับผู้ผลิตและนำเข้าสินค้าแล้ว แต่ผู้ประกอบการรายเล็กอาจจะประสบปัญหาบ้าง โดยเฉพาะหากต้องรอการนำเข้าสินค้าก็อาจจะมีความล่าช้า จนทำให้ไม่สามารถ COD ได้ทันตามกำหนดเวลา

อนึ่ง กกพ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะที่ 1 โดยการจับสลากมีทั้งสิ้น 67 รายกำลังการผลิตรวม 281.32 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรทั้งหมด คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้เกือบ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการในพื้นที่ของ กฟภ. จำนวน 61 โครงการ กำลังการผลิต 259.67 เมกะวัตต์ และพื้นที่ของกฟน.จำนวน 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 21.65 เมกะวัตต์

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการจะมีอายุสัญญา 25 ปี และได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 5.66 บาท/หน่วย ซึ่งจะต้องดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในวันที่ 30 ธ.ค.59 หลังจากนั้น กกพ. เตรียมที่จะออกประกาศรับซื้อโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ระยะที่ 2 อีกว่า 500 เมกะวัตต์ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะแบ่งเป็นโควตาของหน่วยงานราชการ 400 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเป็นโควตาของสหกรณ์ภาคการเกษตร เพื่อให้การรับซื้อทั้งโครงการฯมีกำลังการผลิตรวม 800 เมกะวัตต์ตามเป้าหมาย

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า กกพ.เตรียมที่จะนำเอาบทเรียนจากการเปิดโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ระยะที่ 1 มาเป็นบทเรียนในการเปิดรับซื้อโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ระยะที่ 2 ต่อไป โดยจะปรับปรุงระเบียบบางส่วนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการตีความ และอาจจะลดขั้นตอนบางอย่างเพื่อความสะดวก ขณะที่โซลาร์ฟาร์มของหน่วยงานราชการ ควรจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่างให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการจับสลาก ทั้งในส่วนการดำเนินการตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ,กฎหมายกรมธนารักษ์ และกฎหมายของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในส่วนของสวัสดิการเชิงธุรกิจ


แท็ก ผลิตไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ