(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค.อยู่ที่ 72.6 ลดลงต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2016 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค.59 อยู่ที่ 72.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 61.1

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 67.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.0

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน จากปัจจัยลบ คือ การส่งออกในเดือนเม.ย. ลดลง 8%,ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออก, ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ

ขณะที่ปัจจัยบวก มาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ยังคาดการณ์ GDP ปี 59 ไว้เท่าเดิมที่ 3.3% แต่ปรับกรอบให้แคบลงมาเหลือ 3-3.5%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%, ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย, ความคาดหวังของประชาชนที่ว่ารัฐบาลเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.58 เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก โดยยังมีความกังวลกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งออกที่ยังหดตัว ปัญหาภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวมของไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าการบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวไม่มากในช่วงนี้ไปจนถึงกลางไตรมาส 3 เนื่องจากประชาชนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย แต่ยังเชื่อว่าการบริโภคน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมีความเป็นรูปธรรม

"ตอนนี้ประชาชนยังไม่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่คาดหวังว่าช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ แต่ก็ยังไม่โดดเด่นมากนัก" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ประชาชนยังมีมุมมองในเชิงบวกจากความเชื่อมั่นที่ว่ารัฐบาลได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันเริ่มมีสัญญานว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลดีมาถึงราคาสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้อง เช่น ยางพาราที่ราคาค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการเบิกจ่ายงบประมาณ และมีเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนสู่ระดับภูมิภาค พร้อมมองว่าในช่วงนี้มีความเหมาะสมที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เนื่องจากเป็นช่วงที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 15 ปี นับตั้งแต่เดือน ต.ค.44

"ถ้าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ก็น่าจะทำในช่วงนี้ เพราะถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันต่ำสุดในรอบเกือบ 15 ปี จึงเป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องเข้มข้นในเรื่องการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินหมุนเวียนสู่ทุกภูมิภาค" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3-3.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ