พาณิชย์เผยเอกชนขานรับเตรียมเสนอ นบข.จัดตั้ง"สถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าว"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาเรื่องการจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าว ซึ่งวันนี้เป็นการเชิญภาคเอกชน 18 บริษัท มีทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ มาร่วมให้ข้อคิดเห็นว่าตามที่แผนการตลาดข้าวครบวงจรได้ตั้งเป้าไว้ว่าประเทศไทยจะดึงข้าวส่วนนึงออกจากการขายข้าวล็อตขนาดใหญ่ เพื่อสำหรับการบริโภคเข้าไปสู่อุตสาหกรรมในเรื่องของการแปรรูป

ทั้งนี้ อยากเห็นการแปรรูปโดยการใช้นวัตกรรมขั้นสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น เครื่องสำอางที่ใช้สารที่มีประโยชน์จากข้าว ซึ่งจะทำให้ข้าวถูกจัดการด้วยกระบวนการการผลิตห่วงโซ่มูลค่า และเป็นการเพิ่มมูลค่าของข้าวไปด้วยในตัว และยังเป็นการปรับพฤติกรรมของคนที่จะเป็น Supply วัตถุดิบเข้าสู่วงจรอุตสาหกรรม

"จะทำให้เปลี่ยนภาพของประเทศไทยจากที่ขายข้าวเพื่อรับประทาน ซึ่งต้องขายตามราคาและความต้องการของโลก พูดง่ายๆ คือกำหนดราคาไม่ได้ต่างกันกับถ้าเราขายสินค้าอุตสาหกรรมหรือสินค้าที่แปรรูปไปแล้ว เรากำหนดราคาได้" ปลัดพาณิชย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาเคยพูดคุยแนวคิดนี้กับ นบข.แล้ว และ นบข.ให้กลับไปดูรายละเอียด เรื่องของกระบวนการจัดการต้องไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเมื่อกระทรวงพาณิชย์ศึกษาแล้วพบว่าไม่ซ้ำซ้อนสามารถจัดการอย่างเป็นรูปธรรมได้ โดยมีภาคเอกชนเข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงแนวคิดเหล่านี้ให้ร้อยเรียงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม คาดว่าจะเสนอให้ นบข.พิจารณาอีกครั้งประมาณปลายเดือนมิ.ย.นี้ หรือ ต้นเดือน ก.ค. หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป

"อยากให้สถาบันการพณิชย์ข้าวฯ เกิดก่อนตนจะเกษียณอายุราชการ และยินดีจะเป็นบอร์ด แต่ไม่ขอบริหาร" น.ส.ชุติมา กล่าว

สำหรับการเชิญเอกชนมาคุยในวันนี้ เป็นการหารือในประเด็นที่ว่าตอนนี้เรามีอะไรที่ยังขาด หากจะทำเรื่องนี้ สรุปว่าทุกวันนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำนัวตกรรมข้าวอยู่แล้วในประเทศไทยพอสมควร แต่เป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีโจทย์ร่วมกัน ไม่มีทิศทาง และไม่มีการส่งต่อสิ่งที่ค้นคว้าวิจัยออกมาได้แล้วให้เกิดผลในเชิงพาณิชย์ และสิ่งที่เอกชนประสบปัญหามากที่สุดคือ การจะสร้างตลาดขึ้นมา เทียบกับสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านไทย ซึ่งจะมีเรื่องของการปาล์มน้ำมันจากที่สกัดเป็นน้ำมันเพื่อการบริโภคธรรมดา ทุกวันนี้เขาพัฒนาไปถึงการสกัดไปทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายไปถึงโอลีโอเคมีคอลซึ่งจะมีมูลค่าสูงมาก เพราะไปได้ในทุกอุตสาหกรรม ข้าวก็เช่นกัน ในเมล็ดข้าว 1 เมล็ดโดยเฉพาะข้าวกล้องจะมีจมูกข้าว รำข้าว พวกนี้หัวใจของข้าว ถ้ามีนวัตกรรมมีเทคโนโลยีมาวิจัยข้าวจะพบสารต่างๆที่มีประโยชน์ในข้าว เช่น สารไฟโตสเตอรอล ที่ช่วยยับยั้งการดูดคอเรสเตอรอลในเส้นเลือดคน หรือ สาร Gamma-Oryzanol เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินอี ถึง 6 เท่า ถ้าเรานำสิ่งที่เราค้นคว้าวิจัยได้มาต่อยอดให้เกิดการพัฒนาเป็นนวัตกรรมจากข้าว ประเทศไทยจะเป็นประเทศไทยที่มีชื่อเสียงด้านข้าวอย่างมาก

นอกจากนี้ สถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าว ยังจะมีหน้าที่กำหนดนโยบายในเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (NTB) ที่ไทยจะนำมาใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ เหมือนที่ต่างประเทศมักใช้กับสินค้าไทย

"ถ้าเรามีนวัตกรรมจากข้าวเหล่านี้ ต่อไปเมื่อคนพูดถึงข้าวก็จะคิดถึงประเทศไทย"ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ทั้งนี้ รูปแบบในการจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าวนั้น จะเป็นองค์กรอิสระเกิดง่าย ซึ่งเมื่อไม่จำเป็นต้องมีสถาบันนี้แล้วการยุบเลิกองค์กรก็สามารถทำได้โดยง่าย

"ที่ผ่านมาคือ ต้องมีคนมาลงทุน ซึ่งคนจะมาลงทุนก็ขาดความเชื่อมั่นเรื่องตลาด และจะหาผลวิจัยลักษณะนี้จากที่ไหนที่จะสามารถนำไปผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ได้ แต่ถ้ามีสถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าว ถือเป็นการตอบโจทย์เรื่องข้าวให้เป็นรูปธรรมได้ แต่ถ้าเราคิดได้แบบนี้แล้วต้องรับทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะเทคโนโลยีกับนวัตกรรมมาเร็ว ถ้าประเทศไทยคิดได้ คนอื่นก็คิดได้เช่นกัน" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ