พาณิชย์ผลักดัน"สถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าว" มุ่งส่งเสริมนำงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 15, 2016 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พาณิชย์ผลักดัน"สถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าว" หวังเปลี่ยนอนาคตข้าวเพื่อการบริโภคสู่ผลิตภัณฑ์จากข้าวหรือซูเปอร์ฟูดส์ด้วยนวัตกรรมขั้นสูง ช่วยแก้จุดอ่อนด้านการผลิต และการตลาด ให้เกิดผลเชิงพาณิชย์

*สถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าว..คืออะไร

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการวิจัยคุณประโยชน์จากข้าวมีอยู่เรื่อยๆ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คิดค้นด้านนวัตกรรมอยู่พอสมควร แต่ขาดการต่อยอดด้านการผลิต การตลาด เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ สถาบันที่ทำหน้าที่วิจัยก็วิจัยไป..นักวิจัยก็จะทำการวิจัยเพียงอย่างเดียว พอได้ผลออกมาก็ไม่มีใครนำไปลงทุน หรือหากจะนำไปลงทุนก็เกรงว่าไม่คุ้มค่า หรือบางครั้งก็ขาดงานวิจัยที่จะนำไปต่อยอด แต่ถ้ามีสถาบันฯ ก็จะเข้ามาปิดจุดอ่อนตรงนี้จะมีคนทำงานเต็มเวลา มีนักวิจัยที่จะคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

"ที่ผ่านมาไม่มีโจทย์ร่วมกัน ไม่มีทิศทาง และไม่มีการส่งต่อสิ่งที่ค้นคว้าวิจัยออกมาได้แล้วให้เกิดผลในเชิงพาณิชย์ วิจัยค้นคว้าได้แล้วแต่หาคนลงทุนผลิตไม่ได้ หรือเอกชนพร้อมลงทุนแต่ไม่มั่นใจเรื่องตลาดที่จะมารองรับ เรื่องเหล่านี้รัฐและเอกชนต้องทำงานควบคู่กัน"

รูปแบบของสถาบันสถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าว จะเป็นองค์อิสระ เกิดง่ายยุบง่าย ยุบในที่นี้หมายถึงถ้าไม่จำเป็นก็ยุบเลิกได้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้งบประมาณชาติในการดำเนินการ อยู่ภายใต้ นบข.เพราะ นบข.เป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้การบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ทำได้ดีขึ้น สถาบันฯ เป็นผู้นำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ ก็ควรอยู่ภายใต้ นบข.

สถาบันนี้จะช่วยเปลี่ยนภาพประเทศไทยจากประเทศผู้ส่งออกเมล็ดข้าวเพื่อการบริโภค จะขายได้ก็ต่อเมื่อมีออเดอร์ เมื่อราคาดี มาเป็นประเทศที่มีทั้งการส่งออกข้าวและนวัตกรรมจากข้าวสามารถกำหนดราคาได้เอง สร้างดีมานด์เอง

"ต่อไปถ้าคนคิดถึงข้าวต้องคิดถึงประเทศไทย เหมือนเมื่อนึกถึงปาล์มต้องคิดถึงมาเลเซีย ต่อไปแทนที่เราจะสนใจแต่ว่าปีนี้เราจะส่งออกข้าวได้เท่าไหร่ เราก็หันมาถามเรื่องนวัตกรรมข้าว รัฐก็จะมีรายได้จากเก็บ Vat จากสินค้าข้าวได้แต่หากมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ก็จะเก็บ Vat ได้มากขึ้น"

*สร้างมูลค่าเพิ่มข้าวไทย..คิดแล้วต้องรีบทำ

ปลัดพาณิชย์ ยังยกตัวอย่างคุณค่าของข้าวให้ฟังว่า ลองเปรียบเทียบกับสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านไทยคือมาเลเซีย ที่ทุกวันนี้คนนึกถึงมาเลเซียจะนึกถึงปาล์มน้ำมัน มาเลเซียเริ่มต้นจากการสกัดเป็นน้ำมันเพื่อการบริโภคธรรมดา แต่ทุกวันนี้มีพัฒนาไปถึงการสกัดประโยชน์จากปาล์มไปทำสิ่งต่างๆได้มากมาย ไปถึงโอลีโอเคมีคอลซึ่งจะมีมูลค่าสูงมาก เพราะไปได้ในทุกอุตสาหกรรม ข้าวก็เช่นกัน ในเมล็ดข้าว 1 เมล็ดโดยเฉพาะข้าวกล้องจะมีจมูกข้าว รำข้าว พวกนี้หัวใจของข้าว ถ้ามีนวัตกรรมมีเทคโนโลยีมาวิจัยข้าวจะพบสารต่างๆที่มีประโยชน์ในข้าว เช่น สารไฟโตสเตอรอล ที่ช่วยยับยั้งการดูดคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือดคน หรือ สาร Gamma-Oryzanol เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินอี ถึง 6 เท่า ถ้าเรานำสิ่งที่เราค้นคว้าวิจัยได้มาต่อยอดให้เกิดการพัฒนาเป็นนวัตกรรมจากข้าว ประเทศไทยจะเป็นประเทศไทยที่มีชื่อเสียงด้านข้าวอย่างมาก

นอกจากนี้ สถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าว ยังจะมีหน้าที่กำหนดนโยบายในเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (NTB) ที่ไทยจะนำมาใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เหมือนที่ต่างประเทศมักใช้กับสินค้าไทย

"สถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าวถือเป็นการตอบโจทย์เรื่องข้าวให้เป็นรูปธรรมได้อย่างครบวงจร แต่ถ้าเราคิดได้แบบนี้แล้วต้องรับทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะเทคโนโลยีกับนวัตกรรมมาเร็ว ถ้าประเทศไทยคิดได้ คนอื่นก็คิดได้เช่นกัน...อยากเห็นสถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าวเกิดขึ้นเป็นรูปร่างก่อนตนเองจะเกษียณอายุราชการ และยินดีจะเป็นคณะทำงาน แต่ไม่ขอบริหารสถาบันนี้"ปลัดพาณิชย์ กล่าว

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า วันนี้สถาบันการพาณิชย์และนวัตกรรมข้าวกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ปลายเดือนมิ.ย.หรือต้นเดือนก.ค.จะเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)อีกครั้ง

"นบข.เคยให้กลับไปดูว่าต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเราดูแล้วไม่มีปัญหาเรื่องซ้ำซ้อนแน่ก็จะเอากลับเข้าที่ประชุม นบข.อีกครั้ง ถ้า นบข.เห็นชอบก็ทำตามขั้นตอนต่อไปคือเข้า ครม.และสำนักงบประมาณ"ปลัดพาณิชย์ กล่าว

*เอกชนพร้อมลงทุน แต่ต้อง Confirm ตลาดให้มั่นใจ

ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี (PRG) ผู้ผลิตข้าวถุง "มาบุญครอง"เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ปทุมไรซมิลฯ พร้อมลงทุนในสินค้านวัตกรรมเพียงแต่เราจะลงทุนโนฮาวและใช้วิธีจ้างผลิตในธุรกิจ Nonfidentail ของเราไป

"เราก็พร้อมลงทุนนะ ถ้ารัฐก็พร้อมสนับนุนเราเรื่องการโปรโมท การตลาด ถ้าเป็นไปได้เราก็ไปเอางานวิจัยมาแล้วไปให้คนอื่นช่วยผลิต แต่ตอนนี้ธุรกิจของปทุมไรซ์มิลล์เราใช้การผลิตจากด้านนอกแต่ควบคุมการผลิตเอง"

นายสมเกียรติ กล่าวว่า โมเดลนี้จะตอบโจทย์บริษัทและข้าวไทยได้มากขึ้น แต่จะประสบความสำเร็จขนาดไหนเรายังไม่รู้ เพราะยังเป็น Concept แต่แนวปฏิบัติจริงอาจจะอยู่ในเรื่องของแนวความคิดด้านนวัตกรรม ต้องคุยกันในเรื่องของ Future Trend ที่พูดว่าจะสนับสนุนกันตอนนี้ก็ต้อง Confirm ตลาดให้มั่นใจว่ามีตลาดใหม่จริง จะมีตลาดใหม่เกิดขึ้นจริง ถ้าเรามั่วๆว่ามีตลาดก็คงไม่ไหว

*รัฐ-เอกชนต้องจับมือกันไปตลอด...ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทิ้งไว้กลางทาง..เจ๊ง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ถ้าจะทำโมเดลนี้ให้เป็นรูปธรรม อุปสรรคคือจะ Success หรือไม่ เพราะทุกอย่างเป็นของใหม่ เป็น Unseen คือถ้าจะออกสินค้าใหม่ทางด้านนวัตกรรม 10 ตัว อาจจะไม่ Success ทั้ง 10 ตัว หรืออาจจะ Success บางตัวก็โอเค แต่โอกาสจะ Success ทั้ง 10 ตัวเป็นไปไม่ได้หรอก ยากมาก แบบนี้เป็นต้น เพราะสินค้าแต่ละตัวจะมีความเฉพาะตัว เฉพาะกลุ่ม เพราะฉะนั้นจะต้องพัฒนาตลาดไปเรื่อยๆ และไม่สามารถใช้ตลาดเก่ามาเป็นตลาดต่อเนื่องได้ 100% ออกสินค้าตัวนึงก็ต้องการตลาดแบบนึง ออกอีกตัวก็ต้องการตลาดอีกแบบนึง ต้องหาตลาดให้เจอและสร้างให้แข็งแรง ตรงนี้อาจจะทำให้ทำงานยากขึ้น มันไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่เป็นเรื่องของความยาก พอเป็นเรื่องยากงานยากการจะหาคนมาทำก็ยากไปด้วยเพราะเกี่ยวกับฝีมือแรงงานของบุคคลากร

"ที่สำคัญคือรัฐและเอกชนต้องทำงานคู่ขนานกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทิ้งไว้กลางทางก็เจ๊ง"นายสมเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ