สบน.ยันแก้ไขกม.บริหารหนี้สาธารณะไม่ทำให้ยอดหนี้เปลี่ยนแปลง ล่าสุดอยู่ที่ 44% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 15, 2016 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุณี เอกสมทราเมษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่า การแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มิ.ย.) ไม่ได้ทำให้หนี้สาธารณะของไทยเปลี่ยนแปลง โดยล่าสุดหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 44% ของ GDP

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นการเพิ่มแก้ไขนิยามหนี้สาธารณะ ให้เพิ่มนิยามหนี้เงินกู้ที่มีความเสี่ยงทางการคลัง ประกอบด้วย หนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) องค์การมหาชน มหาวิทยาลัยของรัฐ กองทุนนิติบุคคล และหน่วยงานภาคการเงิน หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งไม่นับหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้สาธารณะ แต่ต้องรายงานตัวเลขหนี้ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่รวมกันกว่า 3.5 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หนี้ดังกล่าวประกอบด้วย หนี้ของ ธปท. กว่า 3 ล้านล้านบาท หนี้ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน 4.8 แสนล้านบาท หนี้ของ อปท. 3.4 หมื่นล้านบาท และหนี้ของหน่วยงานอื่นที่เหลือ รวมกันอีก 1.2 หมื่นล้านบาท

"หนี้เงินกู้ที่มีความเสี่ยงทางการคลัง ไม่ได้ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม เป็นการรายงานตัวเลขหนี้ในภาพรวมของประเทศ ทำให้สาธารณะชนได้เห็นภาพรวมของหนี้ภาครัฐที่อาจเป็นความเสี่ยงการคลังได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น" นางสุณี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ