Brexit: ราคาทองพุ่งแรงวันนี้หลังผลโหวตอังกฤษพลิก นลท.เทขายสินทรัพย์เสี่ยงไปลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัยแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 24, 2016 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ ภัทรสกลเกียรติ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า การที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรงในวันนี้ เป็นเพราะสถานการณ์เรื่องการลงประชามติของอังกฤษที่จะออกจากสหภาพยุโรป (EU) ออกมาพลิกความคาดหมาย เนื่องจากเมื่อคืนหลังปิดการลงคะแนนได้มีผล Exit Poll ออกมาว่าชาวอังกฤษราว 60% ตัดสินใจที่จะไม่แยกตัวออกจาก EU แต่พอผลการนับคะแนนจริงกลับออกมาตรงกันข้าม คือ ชาวอังกฤษตกลงที่จะแยกตัวออกจาก EU ดังนั้นพอตลาดเปิดการซื้อขายในช่วงเช้าจึงทำให้มีความต้องการเข้าไปลงทุนในทองคำในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ราคาทองคำจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก

"หลังจากอังกฤษปิดการลงคะแนนแล้ว มีผล exit poll ออกมาว่าจะอยู่ต่อถึง 60% คนจึงคาดไปว่าอังกฤษจะอยู่ในอียู แต่พอผลประชามติจริงๆ ออกมาดันพลิก ราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจึงขึ้นมา และหุ้นเลยถูกขายทิ้ง" นายอภิสิทธิ์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

พร้อมมองว่า การที่อังกฤษออกจาก EU จะยังไม่ได้เกิดผลทันทีในทางปฏิบัติ เพราะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ทางกฎหมายที่คาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งในระหว่างนี้เชื่อว่านักลงทุนจะมีความพร้อมเพียงพอที่จะเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และปัจจัยสำคัญที่จะยังคงเป็นปัจจัยระยะยาวที่นักลงทุนให้ความสำคัญคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับในระยะสั้นนี้ให้แนวรับ-แนวต้านสำหรับราคาทองคำในตลาดโลกไว้ในกรอบ 1,300 - 1,300 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือคิดเป็นเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยนที่ประมาณ 35.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะอยู่ในกรอบบาทละ 21,800 - 22,800 บาท

ผู้ช่วยผู้จัดการ จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ กล่าวว่า สถานการณ์ในช่วงจากนี้ไป คงต้องติดตามว่าจะมีประเทศอื่นใน EU จะเดินตามกรณีของอังกฤษหรือไม่ในการขอแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิก EU ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ รวมถึงประเทศอื่นที่ต้องรับผิดชอบกรณีหนี้ของกรีซที่ต้องการจะดำเนินการในลักษณะเดียวกับอังกฤษ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้มุมมองภาวะเศรษฐกิจจากเดิมที่ค่อยๆ คาดว่าจะดีขึ้น จะเริ่มกลับมาสะดุดอีกรอบ

"ไม่ใช่แค่อังกฤษต้องการออกจากอียู เนเธอร์แลนด์ และประเทศที่ต้องรับผิดชอบหนี้กรีซ เขามองว่าไม่อยากเสียอะไรไปกับเรื่องแบบนี้แล้ว ออกดีกว่า ดูอังกฤษเป็นตัวอย่าง ซึ่งทำแล้วประสบผล ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ กลุ่ม EU ที่รวมตัวกันมาเก่าแก่มากเป็น 40 กว่าปี ตั้งแต่เป็นแค่ FTA จนมาเป็น EU การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งออกจากการเป็นสมาชิกถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และยิ่งเป็นอังกฤษด้วย จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

พร้อมประเมินว่า ในปีนี้มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง เนื่องจากขณะนี้ถือว่าเศรษฐกิจสหรัฐค่อนข้างฟื้นตัวสวนกระแสกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งเฟดคงจะต้องเร่งทำให้นโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพราะหลังจากในปี 2008 ที่สหรัฐเกิดวิกฤติซับไพร์มนั้น เฟดได้ระดมอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปเป็นจำนวนมาก

"ตั้งแต่ปี 2008 ที่มีวิกฤติซับไพร์ม ช่วงนั้นเฟดระดมใส่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปแบบโอเวอร์โดส แต่พอเศรษฐกิจฟื้น เฟดต้องค่อยๆ ถอนยาออกมา ต้องทำให้นโยบายการเงินกลับคืนปกติโดยเร็ว เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้น แล้วนโยบายการเงินยังเป็นแบบผ่อนคลายสุดขีด จะทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ และจะยิ่งวุ่นวายหนัก ดังนั้นเฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย และทำให้นโยบายการเงินกลับเข้าสู่ปกติเร็วที่สุด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ