รบ.ผลักดันระบบพร้อมเพย์ การโอนเงินของประเทศสู่ยุคดิจิทัล ดีเดย์ 15 ก.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 2, 2016 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลผลักดันบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ “พร้อมเพย์ (Promptpay)" หรือชื่อเดิม Any ID หนึ่งในโครงการหลักภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย โดยตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.59 เป็นต้นไป รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนพร้อมเพย์ ผ่านระบบข้อมูลกลางของธนาคารทุกแห่ง โดยต้องเตรียมข้อมูลหรือเอกสารหลักฐาน 3 อย่าง คือ 1) เลขที่บัตรประชาชน 2) หมายเลขโทรศัพท์มือถือ 3) เลขที่บัญชีธนาคาร ไปแจ้งกับธนาคารที่เปิดบัญชีไว้ และประชาชนสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการผูกบัญชีได้ตลอดเวลา

ระบบพร้อมเพย์ คือ บริการที่ทุกคนสามารถโอนเงินให้แก่ผู้อื่นโดยไม่ต้องสอบถามเลขที่บัญชีธนาคาร ช่วยเพิ่มความสะดวกด้วยการจัดให้มีระบบข้อมูลกลาง หรือถังข้อมูล เชื่อมบัญชีธนาคารทุกธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และเลขประจำตัวประชาชนเข้าด้วยกัน จึงสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์และเลขประชาชนอ้างอิงแทนได้ และบัญชีเงินฝากนั้นยังคงใช้โอนเงินได้ตามปกติ โดยในระยะแรกจะเริ่มให้บริการระหว่างบุคคลก่อน จากนั้นจะขยายไปยังนิติบุคคล

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับประโยชน์ของระบบพร้อมเพย์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของภาครัฐคือ ช่วยลดความยุ่งยากของหน่วยงาน และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับเงินเร็วขึ้น เช่น การใช้ประโยชน์จากเลขประชาชน 13 หลัก รับเงินสวัสดิการจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการคืนภาษีเข้าบัญชีได้ทันที ไม่ต้องส่งเช็คขีดคร่อม การรับเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกร การรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินบำนาญ เบี้ยหวัด ฯลฯ

นอกจากนี้ บุคคลทั่วไปยังสามารถโอนเงินให้กันโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์แทนเลขบัญชีธนาคาร เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และค่าธรรมเนียมอาจถูกกว่าการโอนเงินโดยใช้เลขบัญชี ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ต หรือแอพพลิเคชัน

“ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะถือเป็นมิติใหม่ของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศ ช่วยให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น รัฐสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและประเมินผลได้ง่าย เพิ่มความโปร่งใส ลดการทุจริต การโกงภาษี และลดต้นทุนการบริหารจัดการธนบัตร

โดยได้กำชับให้ธนาคารของรัฐทุกแห่งเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบดังกล่าว และขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งร่วมดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งสั่งการให้กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนของเลขประชาชน 13 หลักในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ