BAY มองผล Brexit กระทบไทยกรอบจำกัด คาด ธปท.คงดอกเบี้ย-กรอบเงินบาทครึ่งปีหลัง 34.50-36.00

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 5, 2016 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านบริหารการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) แนวโน้มของตลาดการเงินในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้หลังจากกรณีอังกฤษลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ธนาคารมองว่าผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงอยู่ในกรอบจำกัด เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการค้าขายกับอังกฤษไม่ถึง 2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ ระดับความรุนแรงหรือความผันผวนยังเทียบไม่ได้กับวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 คือ วิกฤต Lehman Brother เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดโลกยังมีอยู่มาก หลังจากธนาคารกลางสำคัญหลายแห่งในโลกใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อประครองเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะไช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงธนาคารกลางของอังกฤษ (BoE) อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็น 0% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะมีชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปในช่วงปลายปีนี้หรืออาจจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ก็ได้ เพื่อทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐไม่แข็งค่ามากจนเกินไป

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.10% ต่อไป แม้ว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่นไม่ได้มีผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% โดยเชื่อว่า ธปท.ยังจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและจะเก็บมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยไว้ใช้ในภาวะจำเป็น

นายตรรก มองว่า ทิศทางค่าเงินบาทไทยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะผันผวนเล็กน้อย โดยเคลื่อนไหวแกว่งตัวในกรอบแคบๆ และอาจแข็งค่าขึ้นในไตรมาส 3/59 ไปที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีกระแสเงินจากต่างชาติไหลเข้าในพันธบัตรระยะสั้น 1-5 ปีเป็นจำนวนมาก เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของไทยถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคที่ 1-1.2% ต่อปี และนักลงทุนพยายามหาช่องทางการลงทุนที่มีความปลอดภัย ให้ผลตอบแทนที่ดี

จากนั้นในไตรมาส 4/59 คาดว่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อยที่ 35.50-36.00 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าหากเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาจะไหลออกไป ก็คาดว่าจะมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทเพียงเล็กน้อย เพราะว่าสัดส่วนเงินทุนจากต่างชาติในตลาดทุนไทยขณะนี้มีสัดส่วนน้อยกว่า 15% เมื่อเทียบกับตลาดทุนอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีสัดส่วนเงินทุนจากต่างชาติอยู่ที่ 40% และ 35% ตามลำดับ ดังนั้น ค่าเงินบาทปัจจุบันถือว่ามีเสถียรภาพค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแนะนำให้ผู้ประกอบการทำการปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของตนเองในการทำการติดต่อค้าในช่วงครึ่งปีหลังที่สถานการณ์ของอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวนอยู่ โดยอาจจะทำการใช้ Forward Contract หรือ Currency Option โดยทำความประกันความเสี่ยงที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่เป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพมากขึ้น มีความเข้าใจง่าย และมีเครื่องมือในการรองรับมาก

นายตรรก กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่า ยังเผชิญกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และความผันผวนของตลาดเงิน ทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบ ประกอบกับ หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยให้ปรับลดลง แม้ว่าปัญหาภัยแล้งจะบรรเทาลงทำให้ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีรายได้มากขึ้นก็ตาม แต่เมื่อหนี้สินยังสูงก็ทำให้การตัดสินใจซื้อลดลง

ปัจจัยหนุนหลักยังคงเป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่นำร่องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ซึ่งธนาคารยังคงประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ราว 3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ