หอการค้า เผยดัชนีคอร์รัปชันไทย มิ.ย.59 ลดลงเล็กน้อย-แนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตยังเสี่ยงทุจริตจากการลงทุนภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 12, 2016 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (CSI) พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยโดยรวมอยู่ที่ 53 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ลดลงเล็กน้อย จากการสำรวจครั้งที่แล้วเดือนธันวาคม 2558 ที่มี 55 คะแนน (0 คะแนน หมายถึง สถานการณ์ปรับตัวแย่ลงที่สุด และ 100 คะแนน หมายถึง สถานการณ์ปรับตัวดีที่สุดถึงไม่มีปัญหาเลย)

ทั้งนี้ ค่าดัชนียังยืนอยู่เหนือ 50 คะแนนได้ถือว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยยังดีอยู่ และยังดีกว่าการสำรวจในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันในปัจจุบันอยู่ที่ 51 จากครั้งก่อนที่ 52 คะแนน และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตอยู่ที่ 56 จากครั้งก่อนที่ 57 เพราะรัฐมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงให้เกิดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

ในด้านความรุนแรงของปัญหา ส่วนใหญ่ตอบว่าปัญหารุนแรงเพิ่มขึ้น 38% ลดลง 28% และเท่าเดิม 34% ใกล้เคียงกับการสำรวจเมื่อเดือนธ.ค. 58 และการคาดการณ์ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น

การสำรวจในครั้งนี้ พบว่า เปอร์เซ็นต์ของเงินเพิ่มพิเศษของรายรับที่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ/นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาเฉลี่ย อยู่ที่ 1-15 % ซึ่งคิดเป็น 93.1% ของการจ่ายทั้งหมด และจากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า มีผู้ตอบว่ามีการจ่ายเงินเพื่อให้ได้สัญญา 31-35% เพิ่มขึ้นมาจากการสำรวจครั้งที่แล้ว คิดเป็น 2.3% ซึ่งถือเป็นจุดที่ต้องติดตามต่อไป

จากการประเมินวงเงินคอร์รัปชันจากงบประมาณรายจ่าย ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเดือนมิถุนายน 2559 ที่ประมาณ 1,192 ล้านล้านบาท ถ้าจ่ายเงินพิเศษ 1-15% จะมีมูลค่าความเสียหายจากคอรัปชันที่ 59,610.2-178,830.6 ล้านบาท คิดเป็น 0.42-1.27% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือราว 59,610.2-178,830.6 ล้านบาท

สาเหตุสำคัญของการเกิดทุจริต อันดับ 1 คือ กฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต อันดับ 2 ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย และอันดับ 3 กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก ซึ่งทั้ง 3 อันดับ ยังอยู่ในอันดับเดิมตั้งแต่มีการสำรวจในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ส่วนรูปแบบการคอร์รัปชั่นที่เกิดบ่อยที่สุด อันดับ 1 ยังคงเป็นการให้สินบน ของกำนัล หรือรางวัล อันดับ 2 คือ การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว และอันดับ 3 การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยความสามารถที่จะทานทนต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นในการสำรวจเดือน มิ.ย.59 อยู่ที่ 2.41 เท่ากับครั้งก่อน และยังเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่มีการสำรวจในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า คนไทยเริ่มรับไม่ได้กับการคอร์รัปชัน และผู้ตอบส่วนใหญ่ 85% ระบุยินดีมีส่วนร่วมในการป้องกันต่อต้านการทุจริต ส่วนอีก 9% ตอบไม่ต้องการมีส่วนร่วม และอีก 6% อยากมีส่วนร่วมแต่ทำไม่ได้ เพราะความจำเป็น กลัวอันตราย

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันในไทยดีขึ้น โดยจัดให้อยู่ในอันดับที่ 10 ของเอเชีย จากปีก่อนที่อันดับ 12 และอยู่อันดับ 76 ของโลก

"แม้แนวโน้มดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แต่ในการสำรวจล่าสุดยังพบว่า ยังมีความพยายามหาช่องว่างของกระบวนการที่จะจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือเงินพิเศษเพิ่มขึ้น โดยบางรายต้องการจ่าย 30-35% ด้วยซ้ำเพื่อให้ได้งาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริตคือ ลดการใช้ดุลยพินิจ, มีกฎหมายคนแจ้งเบาะแสทุจริต, ตรวจสอบการทุจริตของข้าราชการ, สร้างระบบที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบ เป็นต้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

อนึ่ง หอการค้าไทย สำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยเดือน มิ.ย.59 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,400 ตัวอย่าง โดยเป็นประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการภาคเอกชน และข้าราชการ/ภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ