ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คงประมาณการส่งออกปีนี้ -2% มอง H2/59 มีแนวโน้มหดตัวจากความเสี่ยง Brexit

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 27, 2016 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการมูลค่าส่งออกของไทยในปี 59 ไว้ที่ -2.0% YoY (โดยมีกรอบประมาณการที่ -3.0% ถึง -1.0% YoY) เหตุต้องเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกในครึ่งปีหลังน่าจะหดตัวมากกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีความเสี่ยงจาก Brexit เพิ่มขึ้นกดดันมูลค่าส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

"ปี 2559 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการส่งออกของไทย เนื่องจากต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงกดดันมูลค่าการส่งออก เช่น ภาวะราคาน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังคงไม่ฟื้นตัว เป็นต้น สะท้อนจากมูลค่าส่งออกครึ่งแรกของปี 2559 หดตัวลงราว 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. 2559 ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแต่มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะได้อานิสงส์จากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์และทองคำ การส่งออกในเดือน มิ.ย.มีมูลค่าราว 18,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวเล็กน้อยราว 0.1% แต่หากไม่รวมมูลค่าส่งออกทองคำ มูลค่าส่งออกติดลบราว 3.5%

นอกจากนี้สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นยังมาจากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้นถึง 26.6% แต่ปัจจัยชั่วคราวจากฐานที่ต่ำในปีแล้ว ซึ่งมูลค่าส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบในเดือน มิ.ย.58 หดตัว 19.1% ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีมูลค่าการส่งออกรถยนต์อาจจะไม่ขยายตัวมากเท่าเดือนนี้

ขณะที่มูลค่าส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 5 ประเทศทำสถิติหดตัวมากที่สุดในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนถึงเศรษฐกิจโลกยังคงไม่ฟื้นตัว ในเดือน มิ.ย.59 มูลค่าส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 ประเทศหดตัวอย่างต่อเนื่องสูงถึง 23.0% ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนสูงที่สุดของไทยราว 13.3% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในเดือนดังกล่าว โดยการส่งออกสินค้าหลักของไทยไปอาเซียน 5 ประเทศหดตัวทั้งในหมวดของสินค้าทุน เชื้อเพลิง และยานยนต์ เช่น การส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ติดลบอย่างต่อเนื่องสูงถึง 52.9% เช่นเดียวกับน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวสูงถึง 44.5% เป็นต้น เช่นเดียวกับ การส่งออกไปตลาดอินโดจีน (CLMV) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทย ในเดือน มิ.ย.59 กลับมาหดตัวสูงถึง 6.8%

นอกจากนี้ ปัจจัยความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นก็ยังคงสร้างความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน อาทิ การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปอาจจะชะลอตัวลง จากผลกระทบของ Brexit ที่ทำให้ค่าเงินปอนด์สเตอริงและค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง ในขณะที่ค่าเงินบาทของไทยกลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งอาจจะกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยที่จะแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ อีกทั้งแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำตามภาวะราคาน้ำมันดิบ และการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับแรงบวกจากราคาทองคำน่าจะมีน้อยลง เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาสูงมากแล้ว เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ