(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 2/59 โต 3.5% เร่งตัวจากไตรมาสแรก,คงคาดการณ์ทั้งปี 3-3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 15, 2016 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/59 ขยายตัว 3.5% เร่งขึ้นจากที่ขยายตัว 3.2% ในไตรมาสแรก และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วจะขยายตัวจากไตรมาสแรกราว 0.8% (QoQ-SA)

ขณะที่ครึ่งแรกของปี 59 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.4%

ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออกบริการ และการลงทุนภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัว 3.8% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส ที่ 4.8% เทียบกับการลดลง 26.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 61.1 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 2.2% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัว 8.0% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากทั้งการใช้จ่ายหมวดค่าตอบแทนแรงงานและหมวดค่าใช้สอยที่ชะลอตัวลง โดยขยายตัว 2.1% และ 8.0% ตามลำดับ ประกอบกับค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมลดลง 11.0% การลงทุนรวม ขยายตัว 2.7% โดยที่การลงทุนภาครัฐยังคงขยายตัวได้ดี 10.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวต่อเนื่อง 11.5% และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 8.2% ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 0.1% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.1% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่หดตัว 2.1% ในขณะที่การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรยังขยายตัวต่อเนื่อง 0.7% ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.0 เทียบกับระดับ 49.4 ในไตรมาสก่อนหน้า

ด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 51,029 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 3.1% ต่อเนื่องจากการลดลง 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้ำ เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก โดยปริมาณการส่งออกลดลง 2.3% และราคาสินค้าส่งออกลดลง 0.8% สินค้าส่งออกที่ลดลง เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี เป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกที่ขยายตัว เช่น รถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ และกุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ เป็นต้น

ด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวสูงต่อเนื่อง การผลิตสาขาอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งผ่อนคลายลง และราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส

*สภาพัฒน์คงคาดการณ์ GDP ทั้งปี 59 โต 3.0-3.5%

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์ GDP ของปี 59 เติบโต 3.0-3.5% หรือค่ากลาง 3.3% แต่มีความเป็นไปได้มากที่จะมีโอกาสขยายตัวได้ในกรอบบนที่ 3.3-3.5% เนื่องจากการประเมินผลกระทบเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังพบว่าอยู่ในวงที่จำกัด จากที่ก่อนหน้านี้เคยกังวลว่าช่วงครึ่งปีหลังจะมีความผันผวนที่เกิดจากเศรษฐกิจจีน และผลกระทบจากกรณีที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งปัจจุบันยังมีผลกระทบไม่มากนักต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ดังนั้นเชื่อว่าผลกระทบจากกรณี Brexit จึงยังไม่น่าจะได้เห็นในช่วงเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ไม่ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลงมากนัก โดยล่าสุดปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.1% จากเดิมที่มองไว้ 3.2% ซึ่งถือว่าปรับลดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะเติบโตได้ราว 3.5% ซึ่งถือว่าดีขึ้นเล็กน้อยจากช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ 3.4%

สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 59 ประกอบด้วย 5 ปัจจัยสนับสนุน ประกอบด้วย การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐอยู่ในเกณฑ์สูง, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง, ราคาน้ำมันยังทรงตัว และภาคการเกษตรปรับตัวดีขึ้น

โดยการเร่งขึ้นของเม็ดเงินภาครัฐและแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ จะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 1.64 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีความคืบหน้าจากการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีแนวโน้มเร่วตัวขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงเดือน ก.ย.58-เม.ย.59 จำนวน 11 มาตรการ วงเงินรวม 6.7 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีน สหรัฐฯ และอาเซียน ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้คาดว่าในปี 59 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมที่ 33.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 29.9 ล้านคนในปี 58 หรือเพิ่มขึ้น 12.1% สร้างรายได้ 1.7 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.9%

ด้านราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าปีนี้ยังอยู่ในช่วง 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนอำนาจซื้อที่แท้จริงของภาคครัวเรือน และลดต้นทุนภาคธุรกิจ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

การปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร และราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าการผลิตภาคการเกษตรจะเริ่มกลับมาขยายตัวในไตรมาส 3/59 และเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 4/59 ทั้งนี้ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากภัยแล้งที่ยาวนานและปัญหาโรค EMS ในกุ้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของประเทศผู้ส่งออกสำคัญ

ขณะที่ยังมี 2 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ 1.เศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ จะขยายตัว 3.1% ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่คาดไว้ที่ 3.2% ในครั้งก่อน และการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่น และยูโรโซนในครึ่งปีแรก รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากกรณี Brexit

2.ความผันผวนท่ามกลางแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 58 และช่วงครึ่งแรกของปี 59 โดยการส่งออกในรูปของเงินบาทชะลอตัว ส่งผลกระทบกับรายได้และสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการ

สำหรับแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 59 เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญกับ 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การเบิกจ่ายและขับเคลื่อนโครงการของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ 2.การดำเนินการตามมาตรการที่อยู่ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้วให้สัมฤทธิ์ผล 3.การฟื้นฟูเกษตรกรและการเตรียมเกษตรกรให้มีความพร้อมสำหรับปีการเพาะปลูก 2559/2560 โดยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกฤดูการใหม่ การดูแลคุณภาพและราคาปัจจัยการผลิต การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การประกันภัยพืชผล และการเตรียมมาตรการและจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว

4.การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้วอย่างเต็มศักยภาพ และเร่งรัดโครงการลงทุนที่ได้ยื่นขอรับสิทธประโยชน์การลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ 5.การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออก โดยสนับสนุนผู้ประกอบการในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการส่งออกของไทยปี 59 โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) การแสวงหาตลาดการค้าบริการในกลุ่มบริการที่ประเทศไทยมีความเป็นเลิศ และลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ และ 6.การสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ