ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกบริการในอีก 3 ปีจะเป็นตัวขับเคลื่อนศก.ไทย พยุงภาคการส่งออกชดเชยส่งออกสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 19, 2016 10:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในภาวะที่เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลายตัวซบเซา ทั้งการส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชน แต่การส่งออกบริการกลับช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้ โดยในช่วงปี 55-58 การส่งออกบริการของไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 7.2% ต่อปี โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของบริการท่องเที่ยวเป็นหลักซึ่งเติบโตเฉลี่ย 9.6% ต่อปี ส่งผลให้การส่งออกบริการของไทยสามารถหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เฉลี่ย 1.5% ต่อปี (Contribution to GDP growth)

"แม้การส่งออกบริการจะขยายตัวในระดับสูง แต่ในช่วงปี 60-62 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะยังไม่สามารถทดแทนการส่งออกสินค้าได้ แต่จะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ช่วยชดเชยส่วนของการส่งออกสินค้าที่หดตัว ทำให้สัดส่วนมูลค่าส่งออกรวมต่อจีดีพีไม่เปลี่ยนแปลง" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ในภาวะที่การค้าโลกชะลอตัว สะท้อนผ่านการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่การส่งออกบริการกลับขยายตัวสูง กล่าวคือ ในช่วงปี 55-58 มูลค่าส่งออกรวม (สินค้าและบริการ) ของโลกหดตัวเฉลี่ย 2.7% ต่อปี (จากที่เคยขยายตัวได้เฉลี่ย 9.8% ต่อปี ในช่วงปี 48-54) โดยได้รับอิทธิพลจากมูลค่าส่งออกสินค้าของโลกที่หดตัว 3.9% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 51 ช้า อีกทั้งภาวะราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับต่ำ รวมถึงการปรับโครงสร้างการผลิตของหลายประเทศ ที่เน้นการผลิตในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีการค้าระหว่างประเทศลดลง สวนทางกับมูลค่าส่งออกบริการ ของโลกที่ยังสามารถขยายตัวได้เฉลี่ย 1.9% ต่อปี

สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลาดังกล่าว มูลค่าส่งออกสินค้าหดตัวเฉลี่ย 2.2% ต่อปี สวนทางกับมูลค่าส่งออกบริการที่ยังสามารถเติบโตได้เฉลี่ย 7.2% ต่อปี ขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ รองจากประเทศฟิลิปปินส์ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกรวมของไทยติดลบเพียง 0.4% ต่อปี ซึ่งดีกว่าประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มูลค่าส่งออกรวมเฉลี่ยติดลบ 5.3% 4.2% และ 7.5% ต่อปี ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงปี 55-58 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลายตัว เช่น การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน หรือแม้แต่การส่งออกสินค้า ไม่สามารถหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เช่นในอดีต สวนทางกับการส่งออกบริการที่ขยายตัวในอัตราสูง และยังช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไปได้ กล่าวคือ ถ้าการส่งออกบริการขยายตัว 1.0% จะหนุนให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาคงที่ (จีดีพี) เติบโตได้ 0.2% ขณะที่ถ้าการส่งออกสินค้าเติบโต 1.0% จะสนับสนุนให้จีดีพีขยายตัวได้ 0.6% จะเห็นได้ว่าจากอัตราการขยายตัวที่เท่ากัน แรงส่งของการส่งออกบริการไปยังจีดีพีจะต่ำกว่า เนื่องจากสัดส่วนของการส่งออกบริการในจีดีพีน้อยกว่ากว่าการส่งออกสินค้า

แม้สัดส่วนของการส่งออกบริการต่อจีดีพีจะต่ำกว่าการส่งออกสินค้าแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับสัดส่วนของการส่งออกสินค้าต่อจีดีพี ที่หดตัวลดอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 55-58 การส่งออกบริการมีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 15.8% ของจีดีพี ขณะที่การส่งออกสินค้ามีสัดส่วนอยู่ที่ 61.3% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการส่งออกบริการต่อจีดีพีมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 6.7% ต่อปี สวนทางกับสัดส่วนการส่งออกสินค้าต่อจีดีพีที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 3.0% ต่อปี

สำหรับในระยะ 3 ปีข้างหน้า (60-62) ภายใต้สมมติฐานที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเติบโตในระดับต่ำเฉลี่ย 0.7% ต่อปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าส่งออกบริการของไทยจะต้องเติบโตเฉลี่ย 12.9% ต่อปี เพื่อช่วยชดเชยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หายไป และรักษาสัดส่วนมูลค่าส่งออกรวมต่อจีดีพีในระดับค่าเฉลี่ยเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ ที่ราว 77% ของจีดีพี โดยเครื่องมือที่จะทำให้การส่งออกบริการขยายตัวในอัตราดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รัฐบาลควรจะใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เนื่องจากไทยมีศักยภาพทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และความคุ้มค่า

"ความท้าทายของการท่องเที่ยวในระยะถัดไป คือ การแข่งขันจะเพิ่มมากขึ้น เพราะหลายประเทศโดยเฉพาะในอาเซียนที่ต้องการใช้การท่องเที่ยวหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน ดังนั้น การทำนโยบายด้านการท่องเที่ยวในระยะถัดไปควรมุ่งเน้นไปยังตลาดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น ตลาดจีนหรือกลุ่มอาเซียนที่มีกำลังซื้อรายได้ปานกลางขึ้นไป หรือสร้างเรื่องราวผ่านสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้เกิดการเดินทางมาท่องเที่ยวซ้ำ เช่น กรณีของประเทศญี่ปุ่น ที่แต่ละเมืองจะมีความโดดเด่นเฉพาะตัว ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวซ้ำ นอกจากนี้ ไทยอาจจะใช้ความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มอินโดจีน หรือ CLMV เป็นต้น" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

สำหรับในระยะปานกลางถึงยาวนั้น การจะคาดหวังให้บริการท่องเที่ยวหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ผ่านมาอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะอัตราการขยายตัวของการส่งออกบริการท่องเที่ยวน่าจะไม่หวือหวาเท่าในอดีต และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างเข้มข้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น รัฐควรสนับสนุนบริการอื่นๆ ให้มีความสำคัญควบคู่ไปกับบริการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสร้างตัวขับเคลื่อนทางเลือกใหม่ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

"โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า บริการก่อสร้าง บริการขนส่ง และบริการวิชาชีพ เป็นบริการที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก เนื่องจากมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐ" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ความท้าทายอีกประการของการคาดหวังให้การส่งออกบริการมีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมรูปแบบการส่งออกบริการที่เกิดขึ้น โดยอาจจะมีการสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลส่งออกบริการในลักษณะเดียวกับการส่งออกสินค้า หรืออาจจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการจัดเก็บข้อมูล เนื่องจากในปัจจุบันมูลค่าส่งออกบริการในบางรูปแบบไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในการส่งออกบริการ เช่น การออกไปให้บริการก่อสร้างในต่างประเทศ หากเกินกว่า 1 ปี ก็จะถือเป็นการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น ทำให้การประเมินมูลค่าส่งออกบริการที่เกิดขึ้นในหลายกรณีต่ำกว่าความเป็นจริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ