(เพิ่มเติม) ประธานไฮสปีดเทรนญี่ปุ่น เข้าพบ"ประจิน" ยันร่วมมือพัฒนา R&D ระบบราง-เพิ่มโนฮาว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 7, 2016 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือกับประธาน International High-Speed Rail Association (IHRA) จากประเทศญี่ปุ่นว่า ทางญี่ปุ่นได้มาเชิญให้ตนและนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เดินทางไปร่วมงาน International Forum ซึ่งเป็นงานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟชินคันเซ็น ในระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.นี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น

โดยการหารือเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในวันนี้ รัฐบาลไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นช่วยเหลือในด้านการพัฒนาและการวิจัยเรื่องระบบการขนส่งทางราง รวมทั้งการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านวิศวกร และด้านเทคนิค ขณะเดียวกันไทยต้องการให้ญี่ปุ่นช่วยถ่ายทอดความรู้ในเรื่องระบบการควบคุมการเดินรถ, ระบบการควบคุมอาณัติสัญญาณ และระบบการซ่อมบำรุง เพราะไทยเองมีงานวิจัยเพื่อจะนำไปต่อยอดในการตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงในไทย หรือศูนย์ประกอบชิ้นส่วนในประเทศไทย โดยเรื่องเหล่านี้ถือว่าได้มีข้อระบุอยู่ในเงื่อนไขการทำโครงการร่วมกัน อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีการพูดคุยกันเพิ่มเติมในช่วงที่ได้ไปร่วมงาน International Forum ที่ญี่ปุ่น

พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนนักบิน ครูฝึก และบุคลากรทางการบินว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการพิจารณาใช้มาตรา 44 เพื่อให้นักบินและบุคลากรทางการบินที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว หรือที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี สามารถกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจเฉพาะกลุ่มบุคลากรการบินได้ แต่จะเป็นเพียงแผนงานระยะสั้นในระหว่างปี 2559-2563 เท่านั้น เนื่องจากมองว่าในระยะถัดไปจะมีการสร้างบุคลากรในส่วนนี้ขึ้นมาได้เพียงพอกับความต้องการแล้ว และปัญหาดังกล่าวน่าจะค่อยๆ หมดไป

รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การอนุญาตให้บุคลากรทางการบินที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี สามารถกลับเข้ามาปฏิบัติงานทางด้านการบินในช่วงที่มีปัญหาขาดแคลนได้นั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการประเมินมาตรฐานด้านการบินขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เนื่องจากเรื่องนี้เป็นการเตรียมการแก้ปัญหาบุคลากรด้านการบินที่ไม่เพียงพอ และบุคคลที่จะต่ออายุการทำหน้าที่ให้นี้จะมีการประเมินคุณสมบัติเป็นรายบุคคลตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้อยู่แล้ว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เสนอเรื่องไปที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนนักบินแล้ว โดยให้สามารถรับนักบินที่อายุเกิน 60 ปี หรือที่เกษียณอายุไปแล้ว สามารถปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะ บมจ. การบินไทย (THAI) และ สายการบิน ไทยสมายล์ ในขณะที่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้เนื่องจาก ไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.คุณสมบัติของคณะกรรมการและกรรมการรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการนำเอานักบินต่างชาติมาปฏิบัติงานในประเทศ ในส่วนของครูฝึกการบิน เพื่อรองรับการผลิตบุคลากรด้านการบินที่ขาดแคลนเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ ในการผลิตนักบิน ปัจจุบันมีสถาบันสอนการบินของเอกชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งจะต้องมีคุณภาพและมาตรฐาน โดย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)จะต้องเข้มงวดในการออกใบอนุญาตให้กับสถาบันการบินต่างๆ ไม่ใช่ว่าขาดแคลนนักบินแล้วจะส่งเสริมให้ผลิตนักบินมากๆแต่ไม่ดูแลคุณภาพ ขณะที่ ครูฝึกบิน จะต้องสอดคล้องกับการผลิตนักบินด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ขาดแคลนครูฝึกบินเนื่องจากค่าตอบแทนไม่สูงมากนัก ดังนั้นจะไปทำงานกับสายการบินเป็นส่วนใหญ่ กรณีใช้ครูฝึกต่างชาติ จะมีค่าตอบแทนสูง ดังนั้นจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดคุณภาพในการผลิตบุคลากร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ