ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองปัญหาวิกฤติจราจรกทม.สร้างผลกระทบศก. ประเมินค่าเสียโอกาสราว 60 ลบ./วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 9, 2016 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและสะสมอยู่กับคนกรุงเทพฯ มาหลายปี จนถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่รถติดอันดับต้นๆ ของโลกจากหลายหน่วยงานในต่างประเทศ จุดนี้ทำให้ภาคส่วนต่างๆ พยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น 35 นาที/การเดินทาง เมื่อนำมาคำนวณเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านเวลาที่คนกรุงเทพฯ ต้องรถติดอยู่บนถนน แทนที่จะนำเวลานั้นไปสร้างรายได้หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จะคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 60 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่ประชากรยอมจ่ายเพื่อแลกกับการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงปัญหาการจราจรที่ติดขัดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จะพบว่า ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 3 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรทรัพยากร (Reallocation): เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรที่ติดขัด ส่งผลต่อการบิดเบือนการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ จากธุรกิจหนึ่งไปสู่อีกธุรกิจหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การหันมาใช้บริการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดริมทางด่วนหรือใกล้ที่ทำงานแทนร้านอาหารที่ต้องใช้เวลาในการสั่งซื้อหรือรอนาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางจากรถสาธารณะบางประเภท ไปเป็นการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วกว่า เช่น รถไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือใช้ทางด่วน หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนทางด้านธุรกิจ เช่น การใช้เทคโลยีการสื่อสาร การซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การที่ธุรกิจหนึ่งได้ประโยชน์ มิได้ส่งผลสุทธิต่อมูลค่าเชิงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากรายได้จากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกนั้น เป็นการดึงเม็ดเงินจากบางธุรกิจที่อาจจะเสียประโยชน์ไปใช้ทดแทน

ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารสาธารณะ พบว่า การเดินทางที่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นในช่วงที่รถติด ทำให้เกิดต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้หากมองในเชิงปัจเจกบุคคล ถือเป็นส่วนที่สูญเสียไปเป็นต้นทุนของผู้ใช้รถที่ต้องจ่ายเอง

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงผลในเชิงเศรษฐกิจโดยภาพรวม หรือผลต่อ GDP ของประเทศ อาจไม่ได้หายไปทั้งหมด กล่าวคือ สถานการณ์ดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็น Zero-sum Effect ซึ่งหมายถึง สถานการณ์ที่มีฝ่ายหนึ่งสูญเสียแต่มีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์ เช่น ประชาชนผู้ใช้รถต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิง แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจพลังงานก็เป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ และหากพิจารณาถึงผลเชื่อมโยงต่อไปอีกทอดหนึ่ง เมื่อผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม ก็อาจเป็นผลทำให้ผู้บริโภคต้องหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจค้าปลีก (ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค) ตามมา

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก ได้แก่ ขนส่งสาธารณะบางประเภท (รถไฟฟ้า/มอเตอร์ไซด์รับจ้าง), ศูนย์บริการซ่อมบำรุงรถยนต์, ทางด่วน, ธุรกิจปั๊มน้ำมัน, ธุรกิจรับฝากรถ/ที่จอดรถ, อสังหาริมทรัพย์ทำเลในเมือง/ติดรถไฟฟ้า, ธุรกิจ E-Commerce, ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดริมทางด่วน/ใกล้ที่ทำงาน และธุรกิจอุปกรณ์สื่อสาร

ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ ขนส่งสาธารณะบางประเภท (รถเมล์), ธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค, ร้านอาหารทั่วไปที่ต้องใช้เวลาในการสั่งซื้อหรือรอนาน และ ธุรกิจสถานบันเทิง

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด อาทิ รถไฟฟ้า การตัดถนนสายใหม่ หรือการขยายทางด่วนเพิ่มเติม แม้ว่าจะเป็นงบประมาณที่รัฐต้องจ่ายเพิ่ม แต่ถือเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ที่เป็นประโยชน์ทั้งภาคธุรกิจ อาทิ การก่อสร้าง การจ้างงาน การค้าวัสดุก่อสร้าง รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวตาม ขณะที่ภาคประชาชนเองก็ได้รับความสะดวกในการเดินทางหรือมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น

"ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ทำให้วิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯและคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเวลาเดินทางหรือรูปแบบการทำงาน รวมถึงการหันมาพิจารณาเลือกทำเลที่พักอาศัยที่สะดวกต่อการเดินทาง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นต้นทุนที่คนกรุงเทพฯจำเป็นต้องจ่ายเพื่อให้เศรษฐกิจยังคงสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้"

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาดังกล่าว คงไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากความซับซ้อนของปัญหาที่สะสมมายาวนาน แต่ในระยะข้างหน้า ผลจากการที่ภาครัฐมีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น การตัดถนนสายใหม่หรือขยายทางด่วนเพิ่มเติมและการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ โดยภายหลังการเปิดใช้บริการก็น่าจะเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง หรือทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยทำให้ปัญหาการจราจรติดขัดที่เกิดขึ้นบรรเทาหรือลดลงได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ การเร่งพัฒนาขยายความเป็นเมืองไปสู่พื้นที่รอบนอก ก็น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความแออัดของประชากรที่กระจุกตัวอยู่ในเขตใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ได้ ท้งนี้ ค่าเสียโอกาสด้านเวลาที่เกิดขึ้น ควรถูกนำมาพิจารณาหากรัฐจะออกมาตรการ/นโยบายเพื่อแก้ปัญหาจราจร ซึ่งนโยบายที่มีประสิทธิภาพควรจะทำให้โดยสุทธิแล้ว ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจต่ำลงหรือไม่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ นอกเหนือจากบทบาทการแก้ไขปัญหาของภาครัฐแล้ว ยังต้องขึ้นอยู่ความร่วมมือของผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน อาทิ การเพิ่มวินัยจราจรบนท้องถนน รวมถึงความยืดหยุ่นของการปรับเวลาทำงานขององค์กรธุรกิจ ที่จะแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ