(เพิ่มเติม) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ คงเป้าส่งออกปีนี้หดตัว -2% แม้ตัวเลข ส.ค.โตสูงกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2016 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก แถลงว่า สถานการณ์ส่งออกว่าในเดือน ส.ค.59 มีมูลค่า 18,825 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.5% YoY ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 654,174 ล้านบาท ขยายตัว 8.2% YoY ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 8 เดือน มีมูลค่า 141,007 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -1.2%

"แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในกลุ่มสินค้าสำคัญและตลาดหลักของไทยในเดือนส.คจะกลับมาเติบโตได้ค่อนข้างดี แต่สภาผู้ส่งออก ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 59 หดตัว -2%"นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออก กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบสำคัญและต้องติ ดตามอย่างใกล้ชิดประกอบไปด้วย การปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักโดยองค์กรระหว่างประเทศ, เมื่อวันที่ 27 ก.ย.59 องค์การการค้าโลกได้แถลงข่าวรายงาน TRADE STATISTICS AND OUTLOOK โดยปรับลดประมาณการเติบโตของการค้าโลกในปี 59 ลงจาก 2.8% ในเดือน เม.ย.เป็น 1.7% เหลือต่ำที่สุดนับแต่เกิดวิกฤติการณ์เงินล่าสุด และยังได้ปรับลดอัตราการเติบโตในปี 60 ลงจาก 3.6% เป็นระหว่าง 1.8%-3.1% โดยเชื่อว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อสถานการณ์ในภาพรวมยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ แม้จะมีปัจจัยบวกเกิดขึ้นบ้างก็ตาม

อีกทั้งความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเกิดจากนโยบายการควบคุมปริมาณการผลิตของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันขนาดใหญ่, แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดการเงินและนำไปสู่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลก ตลอดจนผลกระทบต่อค่าเงินบาทของไทย, สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศและภัยจากการก่อการร้าย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในหลายประเทศ และความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออกไทย ในการแข่งขันด้านนวัตกรรม มาตรฐานสินค้า และการศึกษาความต้องการของผู้บริโภค แทนที่การแข่งขันด้านราคา

นายนพพร กล่าวว่า หากยอดส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือ (ก.ย.-ธ.ค.59) มีมูลค่าเท่ากับปีก่อนจะทำให้การส่งออกทั้งปี 59 หดตัวราว -0.8% ถึง -1.6% แต่ สรท.ยังจะไม่มีการปรับเป้าส่งออกปีนี้ โดยจะขอดูสถานการณ์การส่งออกในเดือน ต.ค.59 ก่อน

ขณะที่ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังมีปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ, ปัญหาการขยายตัวทางการค้าโลกที่ระดับ 1.7% ซึ่งต่ำกว่าจีดีพีของโลกที่ 3.1% แสดงให้เห็นว่าการค้าโลกไม่ใช่ปัจจัยขับเคลื่อนจีดีพีโลก, ธนาคารกลางประเทศต่างๆ พยายามคิดค้นเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้เป็นกลไกแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ, มีการนำมาตรการกีดกันทางการค้าออกมาใช้เพิ่มมากขึ้น, ทั่วโลกมีปัญหาหนี้ในประเทศสูงขึ้นเนื่องจากการดำเนินนโยบายประชานิยม, ปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มตกต่ำ

นายนพพร กล่าวว่า กรณีที่ภาคเอกชนไม่กล้าตัดสินใจลงทุนในขณะนี้เนื่องจากยังมองไม่เห็นตลาดที่จะมารองรับสินค้าที่ผลิตได้ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ควรเป็นหัวหอกในการลงทุนสร้างนวัตกรรมเพื่อเปิดตลาดสินค้าใหม่ แทนที่จะลงทุนผลิตสินค้าแข่งขันกับ SMEs ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นขณะนี้ยังไม่ได้ผลักดัน e-Business อย่างจริงจัง ซึ่งล่าช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของโลก

ขณะที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออก ระบุว่า แนวโน้มการส่งออกปีนี้คาดการณ์ในเกณฑ์ดีที่สุดน่าจะหดตัวราว -1.25% ถึง -1.50% หากช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ยังสามารถส่งออกได้เฉลี่ย 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกรถยนต์ยังจะเป็นสินค้าหลัก ซึ่งล่าสุดได้รับทราบจากผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ว่ายอดส่งออกรถยนต์ในเดือน ก.ย.59 หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า และเดือนเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.2-3.3% เนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีอัตราขยายตัวในระดับที่ต่ำเพียง 2.5%

ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือน ส.ค.59 ขยายตัวถึง 6.5% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากเป็นการปรับฐานการส่งออกจากปีก่อนที่อยู่ในระดับที่ต่ำ เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของไฮซีซั่นการส่งออก เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหมวดยานพาหนะและเครื่องปรับอากาศที่ขยายตัวได้มาก ซึ่งคงต้องตามดูต่อไป ทำให้ สรท.ยังคงเป้าส่งออกตามเดิมที่ -2.0% ยังไม่ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้ใหม่ และคาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้การส่งออกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในวันที่ 5 ต.ค. ทางสภาผู้ส่งออกจะเข้าพบรมว.คมนาคม เพื่อขอให้กระทรวงคมนาคมเรียกข้อมูลสถานะตู้สินค้าระหว่างการเดินทางจากตัวแทนบริษัท Hanjin ในประเทศไทยและให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและกำหนดผู้ประสานงานหลักในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับสายเรือหรือผู้ขนส่งอื่นในอนาคต ขณะที่ สรท. จะจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่แนวทางด้านกฎหมาย/ประกันภัยให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกทั่วไปได้รับทราบแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ