รมว.คมนาคม เผย ICAO พอใจการแก้ปัญหาการบินของไทย-นัดหารือ FAA กลาง พ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2016 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เผยผลเข้าร่วมประชุมสมัชชาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมัยสามัญครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 25-30 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ผลประชุมสมัชชา ICAO ครั้งที่ 39 ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมั่นกับสมาชิกเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการบินของไทย ซึ่งได้พบประธานฯ และเลขาธิการ ICAO เพื่อรายงานถึงความคืบหน้าการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) โดย ICAO ได้แสดงความยินดี พร้อมให้ความช่วยเหลือทั้งทางวิชาการและเทคนิคกับไทย ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาไทยได้รายงานการแก้ปัญหาให้ ICAO ทราบ ซึ่งได้เริ่มกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Re-certification) หรือการออก AOC ใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการปฏิบัติตามแผนงานที่ ICAO รับรองเพื่อให้ปลดจากธงแดงโดยเร็ว

ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหา SSC ผ่านระบบออนไลน์ ทั้งการแยกองค์การการบินพลเรือน การจัดหาบุคลาการผู้ตรวจสอบ การออกแบบตามต้นแบบ ICAO ซึ่งร่างกฎหมายใหม่จะแล้วเสร็จสิ้นปี 2559 การออก AOC ใหม่ซึ่งก่อนยื่นให้ ICAO ตรวจซ้ำจะต้องมีความพร้อม โดยจะทำงานกับ ICAO อย่างใกล้ชิด

ส่วน EASA และ DG MOVE นั้น ได้ย้ำถึงกระบวนการออก AOC ใหม่ให้มีความโปร่งใส หากสายการบินใดไม่ผ่านเกณฑ์ 5 ขั้นตอน จะต้องไม่ผ่อนปรนใดๆ และต้องไม่ให้มีอิทธิพลใดๆ เข้ามาครอบงำในการออกใบรับรองใหม่ รวมถึงให้ กพท.เพิ่มขั้นตอนในการตรวจตรา เฝ้าระวัง สม่ำเสมอ เพี่อสร้างความมั่นใจกับผู้โดยสารเรื่องความปลอดภัย

"ได้กำชับ ผอ.กพท.เรียกประชุมสายการบินให้เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการซ่อมบำรุงต่างๆ ไม่ให้เกิดความขัดข้องในการให้บริการซึ่งที่ผ่านมามีสายการบินที่เที่ยวบินล่าช้าบ่อย ต้องเรียกมาตักเตือน หากไม่พร้อมในการให้บริการต้องพิจารณาถอนเส้นทางบินออกไป เพื่อไม่ให้กระทบผู้โดยสาร" นายอาคม กล่าว

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ประธาน ICAO เห็นว่าที่ไทยประกาศเข้าร่วมมาตรการลดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการบินในระยะแรก แม้ว่ายังอยู่ระหว่างแก้ SSC ในเวทีการบินพลเรือนระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า สายการบินของไทยมีความปลอดภัยสูงและพร้อมในการเข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศ พร้อมกันนี้ยังเห็นว่าในการแก้ปัญหาการบินของไทยได้รับความช่วยเหลือจากอียู EASA และ ICAO ซึ่งในอนาคตไทยควรเป็นประเทศผู้ให้และเป็นผู้นำการบินพลเรือนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ใช่แค่ในอาเซียน ซึ่งมีสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ผลิตบุคลากรด้านการบิน และ ICAO ให้การรับรองมาตรฐานการอบรม การสอบ ใบอนุญาตอายุ 3 ปี และมีโรงเรียนการบินภาคเอกชน ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านผลิตบุคลากรได้

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ทาง FAA มีความเห็นร่วมกันในการหารือด้านเทคนิคเพื่อกำหนดแผนงานและระยะเวลาในการปรับ อันดับไทยจาก Category2 (CAT 2) ขึ้นเป็น Category 1 (CAT1) ซึ่งไม่มีมาตรฐานด้านเวลาเพราะบางประเทศใช้เวลาหลายปี บางประเทศใช้เวลาไม่นาน โดย FAA ระบุว่าขึ้นกับการตอบข้อซักถามหลักๆ ได้แค่เร็วไหน ซึ่งไทยมี 35 ข้อที่ต้องตอบ ซึ่งต้องแยกข้อหลัก ข้อย่อย หากตอบข้อหลักได้พอใจอาจจะได้รับพิจารณาเร็ว โดย FAA ทราบการทำงานของไทยมีความก้าวหน้าและการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ซึ่งคณะทำงานของ กพท. และคณะทำงาน FAA นัดหารือกันช่วงกลางเดือน พ.ย.59 ที่เมืองลอสแองเจอลิส ซึ่งการปรับเป็น CAT 1 ไม่จำเป็นต้องรอปลดธงแดง

นอกจากนี้ ยังจะมีการเจรจาสิทธิการบินกับประเทศเกาหลีเรื่องเสรีภาพที่ 5 และขอความร่วมจากสำนักงานการบินพลเรือนออสเตรเลียในการพิจารณาอนุญาตให้ บมจ.การบินไทย (THAI) สามารถนำเครื่องบินใหม่ A 350 XWB ซึ่งเพิ่งได้รับมอบ ทำการบินได้โดยเร็ว ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร ในการเปลี่ยนแบบเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีความการพัฒนาเทคโนโลยีและความปลอดภัยสูงขึ้นรวมถึงขอความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการเข้มงวด ในการเพิ่มเที่ยวบินและจุดบินปลายทาง ซึ่งทางปลัดกระทรวงกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) จะนัดหารือ รมต.กระทรวง MLIT เร็วๆ นี้เพื่อได้รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาการบินของไทย

"ทั้งออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น ล้วนเป็นตลาดการท่องเที่ยวสำคัญของไทย หากสามารถเพิ่มเที่ยวบินได้ หรือเพิ่มขนาดเครื่องบินได้จะเป็นส่งเสริมด้านการบิน เพิ่มรายได้ให้สายการบิน ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกานั้นได้วางแผนให้การบินไทยเข้าสหรัฐอีกครั้งในช่วงปี 2560 ใน 2 จุดที่จะบินผ่านทางเอเชียแปซิฟิก ที่ผ่านทางญี่ปุ่นและเกาหลี" นายอาคม กล่าว

ก่อนหน้านี้ การบินไทยได้ยกเลิกทำการบินเข้าสหรัฐไปก่อนที่จะถูกลดชั้นเป็น CAT 2 ทำให้การที่จะกลับไปบินใหม่อีกครั้ง จะต้องใช้เวลามากขึ้น เพราะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ โดยจะต้องได้ปรับ CAT 1 ก่อน คือ หากไม่หยุดบินไปก่อนทาง FAA ยังผ่อนปรนได้ ซึ่งให้การบินไทยเตรียมพร้อมไว้

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท.กล่าวว่า ได้เริ่มกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Re-certification- AOC ) ใหม่แล้ว โดยเข้าขั้นตอนที่ 3 คือทยอยตรวจเอกสาร ซึ่งขณะนี้สายการบินบางกอกแอร์เวย์มีความก้าวหน้ามากที่สุด ส่วนการบินไทย และไทยแอร์เอเชีย อยู่ในขั้นตอนที่ 3 เหมือนกัน โดยคาดว่า จะเริ่มทยอยออก AOC ได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 หรือ ม.ค.60

สำหรับการหารือกับ FAA นั้น ประเด็นหลักคือ การตรวจนักบิน เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบนักบินของ กพท. ที่ไม่ตรงกับรุ่นของเครื่องบิน เป็นการตรวจสอบรวมซึ่งได้แก้ไขโดยการจัดหาผู้ตรวจสอบจากภายนอก 58 คน เข้ามาทำหน้าที่ โดย กพท.มอบอำนาจในการตรวจสอบ และ กพท.จะเป็นผู้ออกใบรับรองให้นักบิน โดยมีนักบินประมาณ 400-500 คนที่ต้องตรวจสอบใหม่ ซึ่งจะเป็นประเด็นที่นำไปหารือกับ FAA คาดว่า อย่างเร็วจะสามารถปรับ CAT 2 เป็น CAT1 ได้ช่วงตารางบินฤดูร้อน ประมาณ มี.ค.60

นอกจากนี้ ICAO แจ้งว่า จะเข้ามาทำการตรวจสอบท่าอากาศยานของไทย โครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย(Universal Security Audit Programme:USAP) ในเดือน ก.ค.60 ซึ่งเป็การตรวจ กพท.ในด้านการบริหารดูแลสนามบิน โดยจะทราบหัวข้อการตรวจสอบในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย, เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ

ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้จะเรียกผู้บริหารสายการบินนกแอร์เข้ามาหารือ ถึงปัญหาที่ทำให้มีเที่ยวบินล่าช้า โดยจะพิจารณาถึงเงื่อนไข สาเหตุของปัญหาก่อนรวมถึงแผนการแก้ปัญหาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ